การวางแผนภาษีอากร (Tax Planning) คือ การกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อการปฏิบัติในอนาคตเกี่ยวกับรายการทางการเงิน (Financial Transactions) อาทิ รายการรายได้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ และจำนวนกำไรหรือขาดทุน ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางภาษีอากรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในอันที่จะป้องกันมิให้เกิดปัญหาภาษีอากรไม่ว่าประการใดๆ โดยมุ่งหมายให้การเสียภาษีอากรและการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรขององค์กรเป็นไปโดยถูกต้อง และครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายภาษีอากรกำหนดไว้ และเป็นผลให้จำนวนภาษีอากรที่ต้องเสียนั้น เป็นจำนวนน้อยที่สุดหรือประหยัดที่สุด รวมทั้งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรสูงสุด ทั้งนี้ โดยไม่อาศัยการทุจริตหลีกเลี่ยงภาษีอากร
ผู้ประกอบการพึงต้องระลึกอยู่เสมอว่า 'ภาษีอากร' เป็นภาระผูกพันหรือปัญหาทางด้านรายจ่ายที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปกับการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับรายจ่ายหรือต้นทุนทางธุรกิจอื่นๆ โดยทั่วไป และเป็นปัญหาหรือภาระผูกพันที่ไม่อาจเลื่อน หรือผัดผ่อนเวลาออกไปได้ เพราะภาษีอากรเป็น “หนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย” ซึ่งผู้เสียภาษีพึงต้องชำระตามกำหนดเวลาโดยไม่อาจบิดพลิ้ว การเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีอากรในทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับองค์กร เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้บริหารที่ต้องกระทำเป็นอันดับแรกๆ เช่นเดียวกับการวางแผนโดยทั่วไป เช่น ต้องรู้องค์ประกอบของกฎหมายภาษีอากรแต่ละประเภทที่ต้องเสีย
การวางแผนภาษีอากรที่จะให้ได้ผลต้องกระทำทันทีที่เริ่มต้นประกอบธุรกิจ และต้องกระทำต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ โดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านภาษีอากรประเภทนั้นๆ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในกิจการที่จะวางแผนภาษีอากรด้วย การวางแผนภาษีอากรจึงอาจต้องอาศัยบุคลากรที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย อาทิ กรรมการผู้จัดการ สมุห์บัญชี นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญทางภาษีอากร และฝ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ร่วมปรึกษาหารือโดยรอบด้านในประเด็นภาษีอากรที่เกิด และต้องกระทำควบคู่ไปกับการวางแผนธุรกิจที่มีประเด็นภาษีอากรเข้ามาเกี่ยวข้อง
การวางแผนภาษีอากร โดยอาศัยความรู้ความชำนาญในประเด็นข้อกฎหมายภาษีอากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอาจมีความยุ่งยาก หรือสลับซับซ้อนมากน้อยแตกต่างกันไป ตามสภาพหรือข้อเท็จจริงทางธุรกิจ และบทบัญญัติทางกฎหมายภาษีอากร ตลอดจนแนวทางปฏิบัติของทางราชการคำวินิจฉัย และคำพิพากษาของศาล ซึ่งเป็นการวางแผนภาษีอากรในระดับที่ลึกลงไปอีกระดับหนึ่ง อาทิ
1. การวางแผนภาษีอากรเพื่อเริ่มกิจการหรือเมื่อริเริ่มกิจการใหม่
2. การวางแผนเพื่อการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร
3. การวางแผนภาษีอากรด้านรายได้
4. การวางแผนภาษีอากรด้านรายจ่าย
5. การวางแผนภาษีอากรด้านทรัพย์สินและหนี้สิน
6. การวางแผนภาษีอากรเกี่ยวกับหน้าที่ทางภาษีอากร
7. การวางแผนภาษีอากรในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
การวางแผนภาษีอากรในระดับนี้อาจจำเป็นต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย บางกรณีต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางภาษีอากร จึงจะสามารถวางแผนภาษีอากรที่จะทำให้ได้ประโยชน์สูงสุด
วัตถุประสงค์ในการวางแผนภาษีอากร มีดังนี้
1. เพื่อให้การเสียภาษีอากรโดยถูกต้อง ครบถ้วนและจำนวนน้อยที่สุด โดยไม่อาศัยการหลีกเลี่ยงภาษีอากร
2. เพื่อขจัดปัญหาทางภาษีอากร
3. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการเสียภาษีอากรไม่ถูกต้อง
4. เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร
5. เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็น และไม่ได้มาตรฐาน
6. เพื่อเตรียมพร้อมต่อการเรียกตรวจสอบภาษีอากรโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
7. เพื่อเสริมสร้างระบบการควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ
เปรียบเทียบแผนธุรกิจ และแผนภาษีอากร
รายการ |
แผนธุรกิจ |
แผนภาษีอากร |
1. เป้าหมาย |
เพื่อให้ได้กำไรสูงสุด โดยคำนึงถึงเป้าหมายทางสังคม และสภาพแวดล้อม |
(1) เสียภาษีถูกต้อง ครบถ้วน เป็นจำนวนน้อยที่สุด โดยไม่อาศัยการหลีกเลี่ยงภาษีอากร
(2) ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด |
2. วัตถุประสงค์ |
(1) สนองตอบความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย อาทิ ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน ลูกค้า เจ้าหนี้ ลูกหนี้
(2) ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็น และไม่ได้มาตรฐาน
(3) เสริมสร้างระบบการควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ |
ต้องสอดรับกับแผนธุรกิจ โดยมุ่ง
(1) ขจัดปัญหาทางภาษีอากร
(2) ประหยัดค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการเสียภาษีอากรไม่ถูกต้อง
(3) ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็น และไม่ได้มาตรฐาน
(4) เตรียมพร้อมต่อการเรียกตรวจสอบภาษีอากรโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(5) เสริมสร้างระบบการควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ |
3. กรอบแนวคิด |
(1) เข้าถึงปัญหาธุรกิจ
(2) เข้าใจและเข้าถึงสาเหตุแห่งปัญหา ทางธุรกิจโดยจัดลำดับความสำคัญ
(3) กำหนดเป้าหมายทางธุรกิจ
(4) กำหนดแนวทางแก้ปัญหาตรงสาเหตุแห่งปัญหาทางธุรกิจ |
(1) เข้าถึงปัญหาทางภาษีอากร
(2) เข้าใจและเข้าถึงสาเหตุแห่งปัญหา ภาษีอากรโดยจัดลำดับความสำคัญ
(3) กำหนดเป้าหมายทางภาษีอากร
(4) กำหนดแนวทางแก้ปัญหาตรงสาเหตุแห่งปัญหาภาษีอากร |
4. ขั้นตอนการวางแผน |
(1) ขั้นตอนศึกษา กำหนดค่านิยม วิสัยทัศน์จากประเด็นปัญหา และสาเหตุแห่งปัญหาจากนั้นนำทั้งสามส่วนข้างต้นมาประมวลเป็นแนวทางปฏิบัติในการแก้ปัญหา หรือพันธกิจ เขียนเป็นแผนหลัก แผนปฏิบัติการ และโครงการ
(2) ขั้นตอนปฏิบัติตามแผน
(3) ขั้นตอนผลการปฏิบัติ ประกอบด้วยการประเมินผลการปฏิบัติกับสิ่งที่คาดหวังไว้ตามแผน หากเป็นที่พึงพอใจใช้เป็นแนวทางในการกำหนดมาตรฐานใหม่ในการปฏิบัติงานต่อไป |
เช่นเดียวกับแผนธุรกิจ |
5. ทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง |
(1) 4M’s : Man Money Material & Technology and Management
(2) สภาพแวดล้อมภายนอก |
? เช่นเดียวกับแผนธุรกิจ |
|
|
|
สุเทพ พงษ์พิทักษ์ อดีตสรรพากรภาค4 กรมสรรพากร
อัพเดทเมื่อ 10/01/2561