หน้าหลัก
ผลิตภัณฑ์และบริการ
โปรโมชั่น
ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ
SME Focus Magazine
งานสัมมนา
โครงการอบรม
คำนวณสินเชื่อเบื้องต้น
ค้นหาจุดบริการ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

FOLLOW US Krungthai SME​


สนใจรับวิจัยธุรกิจและความรู้กรุงไทย SME ทางอีเมล์
Krungthai SME

ความท้าทายของภาคท่องเที่ยว และพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยใน New Normal

 

        ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ของธุรกิจท่องเที่ยวหดตัวอย่างมาก เนื่องจากการเดินทางไม่ว่าจะในประเทศ หรือ ต่างประเทศที่ต่างหยุดชะงัก ในปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเหลือเพียง 6.8 ล้านคน จากที่เคยมีถึง 39.8 ล้านคนในปี 2019 ส่วนในปีหน้ารายได้ท่องเที่ยวก็ยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงไม่สามารถเดินทางเข้าไทยได้อย่างสะดวก ในช่วงที่ธุรกิจท่องเที่ยวไทยไม่สามารถพึ่งพิงรายได้จากต่างชาติได้อย่างเคย การหันมาให้ความสนใจกับตลาดท่องเที่ยวในประเทศจึงทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยในบทความนี้จะวิเคราะห์ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างไรต่อภาคการท่องเที่ยวในปีหน้า? พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรใน New Normal? และหากไทยต้องการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้มากขึ้น มีแนวทางใดที่น่าสนใจบ้าง?

 

ในปี 2021 การท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวได้มากหรือไม่?

        Krungthai COMPASS ประเมินว่ารายได้ท่องเที่ยวในปีหน้ายังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก โดยในขณะนี้แม้ว่าจะยังไม่มีความแน่นอนเรื่องวัคซีน แต่หลายฝ่ายได้ประเมินไว้ว่าวัคซีนน่าจะถูกค้นพบในช่วงปลายปี 2020 ถึงช่วงต้นปี 2021 อย่างไรก็ดีถึงวัคซีนจะถูกค้นพบแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะถูกแก้ไขในทันที เนื่องจากผู้ที่ได้รับวัคซีนยังอาจติดเชื้อไวรัสและเป็นพาหะได้อยู่ นอกจากนี้วัคซีนอาจถูกผลิตได้ในปริมาณจำกัด ในช่วง 3-6 เดือนแรกทำให้การแจกจ่ายวัคซีนยังทำได้ไม่ทั่วถึง McKinsey วิเคราะห์ไว้ว่ากว่าที่วัคซีนจะมีการแจกจ่ายและผู้คนได้รับวัคซีนอย่างแพร่หลายอาจเป็นช่วงปลายปี 2021

        ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไทยได้ในปีหน้าจะขึ้นอยู่กับว่าไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบใด ซึ่ง Krungthai COMPASS ประเมินว่าในกรณีฐานที่ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างระมัดระวังในช่วงครึ่งปีแรก โดยรับเพียงวันละ 2-3 พันคน และเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะทำให้ไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ 7.6 ล้านคน อย่างไรก็ดีหากไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบระมัดระวังตลอดทั้งปี โดยรับเพียงวันละ 2-3 พันคน จนกว่าคนไทยจะได้ฉีดวัคซีน อย่างทั่วถึงจะทำให้ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าเพียง 9 แสนคนเท่านั้น

        ดังนั้น ปัจจัยที่ช่วยพยุงภาคการท่องเที่ยวของไทยในปีหน้าคือการท่องเที่ยวของคนในประเทศที่น่าจะฟื้นตัวได้ถึง 50% มาอยู่ที่ระดับ 151 ล้านคน-ครั้ง น้อยกว่าจำนวนใน ปี 2019 ที่ 166 ล้านคน-ครั้ง ไม่มากนัก เนื่องจากไทยควบคุมการระบาดในประเทศได้ดี ทำให้ไม่น่าจะมีการปิดเมืองอีกในปีหน้า นอกจากนี้การท่องเที่ยวไทยยังได้รับอานิสงส์จากกลุ่มคนไทยที่เคยเที่ยวนอกที่น่าจะกลับมาเที่ยวไทยแทนในช่วงที่ยังไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ โดยในช่วงก่อนโควิดคนไทยที่เที่ยวเมืองนอกกว่า 12 ล้านทริป ซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้อาจกลับมาเที่ยวไทยได้ถึง 14 ล้านทริปในปีหน้า เนื่องจากการเที่ยวในประเทศสามารถเที่ยวได้บ่อยกว่าและใช้วันน้อยกว่า

        อย่างไรก็ดี การที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเคยเป็นรายได้หลักของการท่องเที่ยวไทยยังไม่ฟื้นตัว ทำให้รายได้ท่องเที่ยวในปีหน้าโดยรวมอยู่ที่เพียง 1.24 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าในปี 2019 ที่เคยมีถึง 3.02 ล้านล้านบาท โดยรายได้ของนักท่องเที่ยวไทยจะ กลายเป็นแหล่งรายได้หลักจากที่เคยมีสัดส่วนเพียง 36% จะเพิ่มเป็น 70% ในปีหน้า นอกจากสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยที่เพิ่มขึ้นแล้ว พฤติกรรมการท่องเที่ยว ของคนไทยก็จะเปลี่ยนไปใน New Normal ด้วยเช่นกัน

 

พฤติกรรมท่องเที่ยวของคนไทยจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรใน New Normal?

ใน New Normal พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน ได้แก่

  1. เลือกเที่ยวในประเทศก่อน
    ถึงจะไม่มีผลสำรวจในไทยโดยตรง แต่ผลการสำรวจจากต่างประเทศก็พอทำให้เราคาดการณ์พฤติกรรมของคนไทยได้ โดยผลสำรวจของ McKinsey ต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนในเดือนพฤษภาคม 2020 มีการถามว่าในการท่องเที่ยวในครั้งถัดไป คิดว่าจะท่องเที่ยวหรือไม่ และในที่ที่ไกลเพียงใดผลปรากฎว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 55% คิดว่าจะเที่ยวในประเทศก่อน ซึ่งความต้องการเที่ยวในประเทศดังกล่าวอาจมาจากทั้งเหตุผลเรื่องเศรษฐกิจ และเหตุผลเรื่องความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 จากการไปเที่ยวต่างประเทศ
  2. เลือกเที่ยวใกล้ๆ สั้นๆ ขับรถไป
    ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและการรักษาระยะห่างทางสังคม โดยการขับรถไปเที่ยวก็ไปมักเป็นการขับรถไปในระยะทางไม่ไกลเกินไปนัก อย่างเช่นในกรณีของจีนซึ่งผลสำรวจจาก McKinsey พบว่าระยะทางที่คนอยากไปเที่ยวมากที่สุดอยู่ในระยะการขับรถที่มากกว่า 3 ชั่วโมง เช่นเดียวกับในกรณีของสหรัฐฯ ที่แบบสำรวจจาก US Travel Association พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 60% ของผู้ที่จะขับรถไปเที่ยวเลือกที่จะขับรถในรัศมีไม่เกิน 300 ไมล์ หรือ 483 กิโลเมตร ซึ่งอัตราการเข้าพัก (OR) ของไทยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นว่าจังหวัดที่มีค่า OR กลับมาสูงกว่า 50% ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงเป็นจำนวนมาก เช่น เพชรบุรี และกาญจนบุรี
  3. เลือกเที่ยวสถานที่ Unseen
    เช่น แหล่งท่องเที่ยวมหัศจรรย์และธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวผจญภัย แหล่งท่องเที่ยวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แหล่งท่องเที่ยวประเพณีวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิต ซึ่งคนไม่พลุกพล่าน ทำให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ อย่างผลสำรวจจาก McKinsey ที่สอบถามนักท่องเที่ยวชาวจีนก็พบว่า นักท่องเที่ยวจีน 44% มีความต้องการที่จะเที่ยวแหล่งทิวทัศน์กลางแจ้งมากที่สุด ในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวประเภทช้อปปิ้งซึ่งเคยเป็นที่นิยมกลายเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวต้องการไปเที่ยวน้อยที่สุด ซึ่งเมื่อคนไทยมีแนวโน้มจะไปเที่ยวที่ Unseen หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกัน พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่เช่นกัน

 

หากต้องการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวทางใดน่าสนใจบ้าง?

        ในขณะนี้ก็มีหลายแนวทางที่น่าสนใจ อย่างเช่น การเลือกเปิด Travel Bubble กับกลุ่มประเทศแถบเอเชียที่มีอัตราผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำ อย่าง จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม ไต้หวัน ซึ่งนักท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มนี้มีสัดส่วนถึงประมาณ 50% ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยในปี 2019 หรือการเลือกเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวเพียงบางพื้นที่ซึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก มีพื้นที่ปิด สามารถควบคุมการระบาดได้สะดวก อย่างเช่น การเปิดภูเก็ต และสมุย โดยในช่วงก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว ถึง 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวที่มาไทยทั้งหมด ซึ่งภูเก็ตโมเดลที่กำลังหารืออยู่ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตา

        นอกจากนี้แล้วการเลือกรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม อย่างเช่น การเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม Medical ที่มารักษาตัวหรือทำศัลยกรรม ซึ่งมีจำนวนประมาณ 2.5 แสนคนต่อปี กลุ่มที่มาตีกอล์ฟซึ่งมีจำนวนกว่า 1 แสนคนต่อปี หรือกลุ่มที่มาเที่ยวระยะยาว 9 เดือนขึ้นไป ที่มีอย่างน้อย 7 หมื่นคนต่อปี ความโดดเด่นของนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว คือ มีการใช้จ่ายต่อทริปที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยมาก อย่างเช่น นักท่องเที่ยวแบบ Medical มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างน้อยๆ 2 เท่า หรือกลุ่มที่มาเที่ยวระยะยาว ซึ่งมักพำนักนานถึง 9-12 เดือน มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงกว่าค่าเฉลี่ยกว่า 11 เท่า และมักสร้างรายได้ที่กระจายสู่ชุมชนและธุรกิจขนาดย่อย

        เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการแนวทางการเปิดรับ นักท่องเที่ยวประเภทพำนักระยะยาว (Long Stay) ที่สามารถอยู่ไทยได้ถึง 9 เดือน โดยในการเดินทางเข้าไทยนักท่องเที่ยวยังต้องถูกกักตัว 14 วัน แม้ภาครัฐประเมินไว้ว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยได้ประมาณ 1,200 คนต่อเดือน ซึ่งถือว่าน้อยมากจากที่เคยมีกว่า 3.2 ล้านคนต่อเดือน แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้รู้ได้ว่าเมื่อไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้วจะสามารถควบคุมการระบาดได้ดีเพียงใด แล้วค่อยพิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นในขั้นต่อไป ซึ่งในขณะที่เวลาในการค้นพบวัคซีนยังไม่มีความแน่นอน การปรับกลยุทธธุรกิจให้อยู่ได้ใน New Normal จึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

อัพเดทวันที่ 3 ต.ค. 2563

โดย กิตติพงษ์ เรือนทิพย์, นักวิเคราะห์ Krungthai Compass
บทความนี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 2563