"ปัญหาไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวเป็นปัญหาคลาสสิคสุดๆ ของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ"
อย่างกรณีของประเทศญี่ปุ่นเองก็เป็นปัญหาใหญ่มากๆ เพราะธุรกิจครอบครัวนั้นคิดเป็นธุรกิจ 99% ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมีกิจการจำนวนแล้วจำนวนเล่า ต้องปิดตัวลงในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาเนื่องจาก “ไม่มีผู้สืบทอด” แม้บ้านเรามีปัญหานี้น้อยกว่าญี่ปุ่น แต่ก็หนักขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ ก็เริ่มมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางว่าจะจัดการกับภาวะแบบนี้อย่างไรดี เพราะปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว
ทำไมทายาทถึงไม่อยากสืบทอดธุรกิจครอบครัว?
คนที่บ้านไม่มีธุรกิจหลายๆ คนอาจนึกอิจฉาคนที่บ้านมีธุรกิจ อย่างไรก็ดีสำหรับคนที่บ้านมีธุรกิจจำนวนไม่น้อย นี่ไม่ใช่เรื่องน่าอิจฉานัก เพราะการทำงานในธุรกิจครอบครัวแบบดั้งเดิมมีปัญหาสารพัดจากมุมคนรุ่นใหม่ เรียกได้ว่ามีปัญหาทั้งการจัดองค์กร ที่แยกบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนไม่ชัดเจน มีปัญหาการเป็นองค์กรที่ยึดติดกับธรรมเนียม ไปจนถึงการทำธุรกิจแบบคนยุคเก่า รวมไปถึงปัญหาความขัดแย้งกับคนใกล้ๆตัวอย่างญาติพี่น้องที่มีมากขึ้นอย่างมหาศาลเมื่อต้องทำงานด้วยกัน
ทำให้ทายาทหลายคนอยากริเริ่มทำธุรกิจของตัวเองมากกว่า อาจเป็นได้ทั้งธุรกิจคนละประเภทหรือประเภทเดียวกับที่ครอบครัวทำอยู่ ซึ่งเขาต้องการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ การทำงาน และบริหารงานให้เข้ากับยุคสมัย จึงเลือกที่จะไม่กลับมาทำธุรกิจของครอบครัวที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลง นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะจริงๆ แล้วธุรกิจครอบครัวต้องการคนที่จะนำธุรกิจครอบครัวให้ผ่านยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไปได้ ในกรณีนี้ทางธุรกิจครอบครัวจึงควรจะประนีประนอมให้ทายาทที่มีลักษณะแบบนี้อยู่ในองค์กรต่อไป
หรือกระทั่งคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย เลือกที่จะออกมาทำงานเป็นลูกจ้างผู้อื่น อาจเพราะการทำธุรกิจไม่ใช่สิ่งที่คนทุกคนถนัด อีกทั้งต้นทุนชีวิตและการเข้าถึงทางการศึกษาระดับสูงของทายาทเหล่านี้มีมากกว่าคนอื่นๆ ในสังคม จึงมีโอกาสได้ทำงานที่มีรายได้สูง และมีรายรับที่ชัดเจน และยังได้ความสบายใจกว่าการกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจของครอบครัวตัวเองด้วย
เช่นนี้ เราจึงต้องตั้งคำถามให้ชัดว่า ยังต้องการให้ธุรกิจของครอบครัวดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่?
การแก้ไข กรณีต้องการให้ธุรกิจครอบครัวดำเนินต่อ
ถ้าในครอบครัวมีความเห็นส่วนใหญ่ว่ายังต้องการให้ธุรกิจครอบครัวอยู่ต่อไปนั้น เราก็ต้องกลับมาพิจารณาว่าจะยอมเปลี่ยนแปลงองค์กรบางส่วน เพื่อหาจุดกึ่งกลางระหว่างรุ่นพ่อแม่และรุ่นลูกหลาน เพื่อให้ทายาทบริหารต่อไปได้หรือไม่ เช่น การเพิ่มอำนาจตัดสินใจแก่ทายาท ให้งบประมาณเพื่อทดลองอะไรใหม่ๆ เพราะปัญหารากฐานอาจไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวไม่มีทายาทที่อยากทำธุรกิจต่อ แต่ปัญหามันคือตัวธุรกิจครอบครัวไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงมากกว่า
หรือถ้าทายาทไม่ต้องการไปบริหารด้วยตัวเองจริงๆ ก็อาจต้องปรับโครงสร้างของธุรกิจครอบครัว โดยแยก “เจ้าของธุรกิจ” กับ “ผู้บริหารธุรกิจ” ออกจากกันให้ชัดเจนแบบธุรกิจสมัยใหม่ทั่วไป ซึ่งตรงนี้ในทางปฏิบัติหมายถึงการแบ่งหุ้นส่วนของธุรกิจครอบครัวไปยังสมาชิกครอบครัวทั้งหลายที่ยังอยากเป็นเจ้าของธุรกิจอยู่แต่ไม่อยากจะบริหารเองอีกต่อไปแล้ว ทำให้ลูกหลานกลายเป็น “ผู้ถือหุ้น” ของบริษัท ส่วนงานด้านการบริหารธุรกิจก็ไปจ้างนักบริหารอาชีพมาทำบริหารอีกที แค่นี้ธุรกิจครอบครัวก็ยังดำเนินต่อไปได้ โดยที่ลูกหลานไม่ต้องมาบริหาร และทุกคนยังได้เงินปันผลจากกำไรของธุรกิจ
ผลจากการปรับโครงสร้างของธุรกิจครอบครัว ยังทำให้ตำแหน่งหน้าที่ของทายาทยืดหยุ่นและเลือกบทบาทได้อีกหลายรูปแบบ เช่น
- ทายาทบางคนนอกจากเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว ยังสามารถดำรงตำแหน่งผู้จัดการ บริหารในส่วนงานที่ได้รับมอบหมาย และรับเงินเดือนแยกจากผลตอบแทนในฐานะผู้ถือหุ้นอีกต่างหาก
- ทายาทที่อยากทำกิจการของตัวเองอยู่แล้ว อาจเล่นบทบาทเป็นผู้ประกอบการไปเปิดบริษัทลูกเพื่อสร้างมิติใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ
- ทายาทที่ไม่ถนัดงานบริหาร แต่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจก็สามารถช่วยธุรกิจครอบครัวในฐานะฟรีแลนซ์และรับผลตอบแทนแบบฟรีแลนซ์ก็ได้ เช่น ลูกหลานจบด้านออกแบบผลิตภัณฑ์มา ก็สามารถช่วยธุรกิจครอบครัวในฐานะของฟรีแลนซ์ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้บริษัทได้
ซึ่งนี่เป็นการปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็นแบบองค์กรสมัยใหม่ แต่ผู้มีบทบาทต่างๆ ในโครงสร้างองค์กรก็ยังเป็นตัวทายาทของธุรกิจครอบครัวเอง
การแก้ไข กรณีธุรกิจครอบครัวไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
อย่างไรก็ดี ในหลายกรณีไม่ได้จบง่ายแบบนั้น แม้ครอบครัวเห็นพ้องกันว่าต้องการให้ธุรกิจครอบครัวไปต่อ แต่ก็ไม่สามารถหาผู้บริหารภายนอกที่เหมาะสมมาบริหารได้ หรือกระทั่งธุรกิจครอบครัวกำลังอยู่ในช่วงขาลง ขาดผลกำไร จนไม่สามารถเพิ่มรายจ่ายค่าจ้างผู้บริหารมืออาชีพได้
ในกรณีแบบนี้ ทางออกที่ดีที่สุดกับทุกฝ่ายคงมีทางเดียวคือ “ขายธุรกิจครอบครัว” ซึ่งการขายนี่ก็ขายได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่
ขายให้กับซัพพลายเออร์ (Supplier) ของธุรกิจที่เคยดีลกันมาอยู่แล้ว ข้อดีคือเป็นการขายให้คนที่คุ้นเคยกับธุรกิจครอบครัวและเห็นมูลค่าของธุรกิจอยู่แล้ว เขารู้ว่าจะจัดการกับมันยังไงต่อ นอกจากนี้เขาก็ได้เพิ่มสายป่านทางธุรกิจของเขาอีกด้วย หรือกระทั่งการขายให้กับคนในอุตสาหกรรมใกล้เคียงกันอย่างคู่แข่งทางธุรกิจโดยตรง ก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะบางทีคู่แข่งทางธุรกิจก็ต้องการขยายกิจการเช่นกัน และการมาซื้อธุรกิจครอบครัวของเราไป ก็เป็นการแบ่งเบาภาระการขยายกิจการไปพร้อมๆ กับได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ถ้าทายาทมีคอนเนคชั่นเพียงพอ ทายาทก็อาจจะไปหานักลงทุนที่อยากซื้อธุรกิจมาซื้อธุรกิจครอบครัวไปก็ได้ เพราะนักลงทุนกลุ่มที่อยากลงทุนซื้อธุรกิจเป็นของตัวเองก็มีอยู่ หากไม่มีคอนเนคชั่นโดยตรงอาจไปติดต่อโบรกเกอร์ด้านการซื้อขายธุรกิจ ให้หาผู้ที่ต้องการจะซื้อธุรกิจของครอบครัวให้แล้วเก็บค่าคอมมิชชั่นเมื่อปิดดีลสำเร็จ
หนทางการขายธุรกิจครอบครัวไม่ใช่แค่นี้ ถ้าธุรกิจครอบครัวจ้างนักบริหารมืออาชีพมาบริหาร แล้ววันดีคืนดีเหล่าคนในครอบครัวต้องการขายกิจการ การขายธุรกิจให้กับตัวผู้บริหารเองก็เป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไป ในทางปฏิบัติมันจะหมายถึงการค่อยๆ ถ่ายโอนหุ้นบริษัทให้ตัวผู้บริหาร และนี่เป็นทางออกที่ดีในระยะยาวเพราะมันเป็นการลดผลตอบแทนแบบตัวเงินให้กับผู้บริหาร ซึ่งเป็นการเพิ่มผลกำไรให้บริษัทพร้อมกับเงินปันผลในหมู่ผู้ถือหุ้น
นอกจากนี้ถ้าธุรกิจครอบครัวเป็นกิจการใหญ่ ผลกำไรดี อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การนำธุรกิจครอบครัวไปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งวิธีนี้ก็มีแนวโน้มจะทำให้ “ราคาหุ้น” ที่เหล่าทายาทธุรกิจครอบครัวถืออยู่พุ่งขึ้นสูงก่อนที่จะถูกขายออกไป และสร้างผลตอบแทน “การขายธุรกิจครอบครัว” ให้กับเหล่าทายาทเป็นปริมาณมากๆ
ซึ่งแบบนี้ตัวธุรกิจไม่ได้หายไป แค่เปลี่ยนมือไปยังผู้อื่น มูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจก็ไม่เสีย จึงไม่กระทบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และลูกหลานยังสามารถเอาเงินก้อนจากการขายกิจการมาแบ่งกันไปลงทุนหรือทำธุรกิจของตัวเองตามที่ถนัดก็ได้
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า “ทางออก” ของการไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวมีได้หลากหลายมาก การที่ไม่มีลูกหลานคนไหนอยากรับช่วงธุรกิจต่อ ไม่จำเป็นต้องจบด้วยการปิดกิจการทิ้งไป แต่สามารถเจรจาต่อรองให้ลูกหลานได้เงื่อนไขที่พอใจแล้วมาบริหารสืบทอดต่อ หรือจ้างผู้บริหารภายนอกมาบริหาร แล้วลูกหลานก็ยกระดับเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทก็ได้ หรือธุรกิจครอบครัวไม่สามารถดำเนินไปต่อได้จริงๆ การขายธุรกิจออกไปขณะที่ยัง “พอขายได้” ก็เป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่ายกว่าการ “ปิดกิจการ” ไปเฉยๆ ครับ
มาเรียนรู้แนวคิดธุรกิจ SME และหลักในการบริหารธุรกิจครอบครัว ได้ที่ Facebook Fanpage Krungthai SME และ Website Krungthai SME มีเนื้อหาดีๆ ทั้งบทความ วิดีโอ และอินโฟกราฟิกรอคุณอยู่