ธุรกิจครอบครัวก็เช่นเดียวกับธุรกิจแบบอื่นๆ ที่ต้องปรับตัวในยุคที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด และประสบความสำเร็จ แต่ปัญหาหลักของธุรกิจครอบครัว คือ “ยากต่อการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งนอกจากจะขวางการเติบโตของธุรกิจแล้ว ยังอาจทำให้ธุรกิจยุติลงได้อีกด้วย ดังนั้นผู้บริหารธุรกิจครอบครัวควรปรับองค์กรในมิติต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจอยู่อย่างยั่งยืน โดยอาจสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้
1.นำเทคโนโลยีมาใช้ และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
ปัจจุบันนี้โลกของเราขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ในหลายอุตสาหกรรมก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งทั้งลดระยะเวลาการผลิต สินค้าได้คุณภาพมาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ตลอดจนการเพิ่มโอกาสทางการค้า
แต่ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ประกอบด้วยคนรุ่นพ่อแม่ที่ไม่มีความถนัดและเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี อาจไม่เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ หรือเปลี่ยนแปลงเข้าหาเทคโนโลยีดิจิทัลได้ช้า เพราะเห็นว่าเมื่อตอนเริ่มต้นธุรกิจก็สามารถดำเนินมาได้โดยปราศจากสิ่งเหล่านี้ วิถีทางธุรกิจแบบเก่าที่เคยใช้มาก็ทำงานได้อย่างดีอยู่แล้ว
ทั้งที่แท้จริงแล้ว หากธุรกิจครอบครัวปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมด้านการผลิต นวัตกรรมด้านโมเดลธุรกิจ หรือนวัตกรรมด้านการระดมทุน ก็อาจทำให้ได้เปรียบธุรกิจครอบครัวอื่นๆ ที่ยังดำเนินธุรกิจแบบเก่า และสามารถแข่งขันกับธุรกิจเอกชนในตลาดได้อีกด้วย โดยอาจริเริ่มจากสิ่งง่ายๆ อย่าง ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดกระบวนการเพื่อประหยัดเวลา หรือ เพิ่มโอกาสทางการขายด้วยการตลาดออนไลน์ เป็นต้น
2. พัฒนาศักยภาพคนในองค์กร
นอกจากการพิจารณาลงทุนเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในธุรกิจครอบครัวแล้ว การลงทุนในมนุษย์เพื่อสร้างอีกหนึ่งปัจจัยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งการพัฒนาศักยภาพคนในองค์กร ทั้งการอบรมในหลักสูตรต่างๆ หรือกระทั่งการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ศึกษาต่อ ต่างก็ช่วยเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ความสามารถแก่พนักงาน เพื่อให้พนักงานนำมาช่วยพัฒนาธุรกิจต่อไป
3. สร้างความหลากหลาย
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบัน ส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งตลาดก็มีการแข่งขันสูง หลายธุรกิจจึงต้องพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และสามารถแข่งขันกับตลาดได้
ธุรกิจครอบครัวจึงต้องพิจารณาปัจจัยนี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยอาจจะเริ่มจากการพัฒนา Packaging, ต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิม หรือ ขยายฐานลูกค้า เปิดรับคู่ค้าทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจเติบโต หรือกระทั่งพิจารณาลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต่างจากธุรกิจเดิมของครอบครัว เพื่อกระจายความเสี่ยง และป้องกันความเสียหายจากการผันผวนของการดำเนินธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเพียงอย่างเดียว โดยการเข้าไปอยู่ในหลายๆ อุตสาหกรรม
4.วางแผนการสืบทอด
จากผลสำรวจธุรกิจครอบครัวทั่วโลก มีเพียง 30% เท่านั้นที่จะสืบทอดไปถึงรุ่นที่ 2 และมีเพียง 12% เท่านั้นที่จะดำเนินมาถึงรุ่นที่ 3 ส่วนที่อยู่รอดมาถึงรุ่นที่ 4 ได้ก็มีเพียง 3% เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามโลกที่เปลี่ยนไป จนทายาทไม่อยากรับช่วงต่อและต้องการความเสรีในการดำเนินชีวิต จึงเลือกที่จะไปทำธุรกิจอื่นของตัวเองมากกว่า ดังนั้นนอกจากการพิจารณาการปรับตัวให้เข้ากับโลกปัจจุบันแล้ว ผู้บริหารธุรกิจครอบครัวควรวางแผนการสืบทอดธุรกิจควบคู่ไปด้วย
ทั้งนี้ต้องพิจารณาผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวตามความเหมาะสม ทั้งลำดับอาวุโส ความรู้ความสามารถ และความสมัครใจควบคู่กันไป เมื่อระบุผู้สืบทอดกิจการได้แล้ว ผู้บริหารธุรกิจคนปัจจุบันควรวางแผนสอนงาน ถ่ายเทอำนาจ และค่อยๆ เพิ่มอำนาจการตัดสินใจด้านต่างๆ ให้ไป ทั้งนี้อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือการทำงานบางอย่างตามความเห็นของทายาทผู้สืบทอดธุรกิจบ้าง โดยให้เป็นไปอย่างสมดุลเพื่อบริหารความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและธุรกิจ
หรือหากท้ายที่สุดแล้วไม่มีทายาทมาสืบทอดธุรกิจต่อ หรือไม่สามารถตกลงเรื่องทายาทผู้สืบทอดธุรกิจได้นั้น อาจต้องพิจารณาว่าจ้างบุคคลภายนอกเข้ามาบริหารธุรกิจต่อ โดยแยกระหว่าง “เจ้าของบริษัท” กับ “ผู้บริหารบริษัท” ออกจากกัน ซึ่งหลายธุรกิจครอบครัวอาจยังกังวลว่าผู้บริหารภายนอกที่จ้างมานั้น จะบริหารกิจการของตนได้ดีหรือไม่? แต่โดยสถิติแล้วธุรกิจครอบครัวที่จ้างผู้บริหารมืออาชีพมาบริหารนั้นจะดำเนินธุรกิจได้มีประสิทธิภาพกว่า เพราะไม่มีคำว่า “ความเป็นเจ้าของกิจการ” มาเกี่ยวข้อง
5.ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม
มิติถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจนั้นก็เป็นสิ่งที่ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะเดิมแล้วธุรกิจครอบครัวจะทำการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการแบ่งผลกำไรในทางธุรกิจส่วนหนึ่งไปเป็นเงินบริจาคเพื่อองค์กรหรือโครงการการกุศล เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ
แต่ในปัจจุบันการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ใช่แค่เรื่องการแบ่งผลกำไรมาให้การกุศล และไม่เพียงดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหวังผลกำไรของบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในแง่บวกหรือลบ เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจและสังคม เช่นเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ของโลกหลายแห่ง
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า ถ้าไม่นับเรื่องการสืบทอดการบริหารธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะแล้ว การทำธุรกิจครอบครัวให้สามารถแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆ จนประสบความสำเร็จนั้น ไม่ได้ต่างจากธุรกิจแบบอื่นเท่าใดนัก แต่สิ่งที่ต้องเน้นเป็นพิเศษสำหรับธุรกิจครอบครัว คือ การต้องยอมเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ซึ่งการกำหนดแนวทางที่เหมาะสมกับธุรกิจ อาจไม่ยากเท่ากับการจัดการความเห็นพ้องต้องกันของคนในครอบครัว ทั้งระดับผู้บริหารกรรมการ และญาติผู้ถือหุ้นทั้งหลาย ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ยากที่สุดของธุรกิจครอบครัว แต่ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการหมั่นสื่อสาร พูดกันตรงๆ เพื่อความเข้าใจกัน และบริหารความสัมพันธ์ภายในครอบครัว อันอาจนำไปสู่ทางออกแบบประนีประนอมในรูปแบบอื่นๆ ที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้
มาเรียนรู้แนวคิดธุรกิจ SME และหลักในการบริหารธุรกิจครอบครัว ได้ที่ Facebook Fanpage Krungthai SME และ Website Krungthai SME มีเนื้อหาดีๆ ทั้งบทความ วิดีโอ และอินโฟกราฟิกรอคุณอยู่