ตำราบริหารธุรกิจส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การบริหารองค์กรธุรกิจทั่วไปให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ทว่าธุรกิจส่วนใหญ่ในไทยนั้นเป็น “ธุรกิจครอบครัว” ไม่ใช่องค์กรธุรกิจทั่วไป และแม้ว่าทั้งธุรกิจครอบครัวและธุรกิจทั่วไปจะมีพื้นฐานเป็นองค์กรธุรกิจเช่นเดียวกัน แต่การขับเคลื่อนภายในองค์กรไปจนถึงปัญหาการบริหารต่างๆ ก็ต่างกันออกไป ซึ่งธุรกิจครอบครัวมักมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาโดยเฉพาะหลายประเด็นด้วยกัน ดังนี้
เส้นแบ่งระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องธุรกิจ
ปกติแล้วในโลกธุรกิจหรือการทำงาน เรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานเป็นสิ่งที่ยังไงก็ต้องแยกกัน เพราะหลักการในการตัดสินของสองพื้นที่ในชีวิตนี้แตกต่างกัน กล่าวคือ เรื่องส่วนตัวจะให้ลำดับความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวก่อนเรื่องอื่น แต่หากเป็นเรื่องงาน ผลประโยชน์ของบริษัทหรือประสิทธิภาพในการทำงานต้องมาก่อน
ปัญหาคือธุรกิจครอบครัวทำให้เส้นแบ่งระหว่างสองพื้นที่ของชีวิตนี้เลือนออกไป การตัดสินใจในธุรกิจครอบครัวมันมีความซ้อนทับระหว่างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ซึ่งนั่นอาจทำให้ประสิทธิภาพทางธุรกิจสูงสุดได้ยากหากจัดองค์กรแบบดั้งเดิม
ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกคนโตเป็นคนที่ทำงานบริหารไม่เก่งเลย แต่ไปเก่งพวกงานขาย ทว่าน้องคนเล็กกลับเป็นผู้บริหารที่มีความเป็นผู้นำและมีศักยภาพที่สุด ตามหลักองค์กรทั่วไปควรจะตั้งลูกคนโตเป็นหัวหน้าฝ่ายขาย และตั้งลูกคนเล็กเป็น CEO
แต่พอเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งมักพิจารณาตำแหน่งต่างๆ “ตามลำดับอาวุโส” ในกรณีนี้การจะให้ลูกคนเล็กข้ามไปเป็น CEO อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความคับข้องใจแก่พี่คนโต และคนอื่นๆ ในครอบครัวได้ เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้หลายครอบครัวจึงเลือกแก้ปัญหาชั่วคราว โดยการให้คนรุ่นพ่อแม่คงตำแหน่ง CEO ไปก่อน และให้น้องคนเล็กเป็น CEO เงา คอยช่วยบริหารและให้การตัดสินใจผ่านพ่อแม่ที่เป็น CEO
สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาวอาจเป็นการปรับอำนาจในบริษัทให้ไม่เหมือนบริษัทปกติ แต่ให้ผู้บริหารด้านต่างๆ คือบรรดาพี่น้อง มีอำนาจในการบริหารบริษัทเท่ากัน ไม่มีใครขึ้นกับใคร แบบนี้ก็จะพอลดความตึงเครียดในโครงสร้างองค์กรของธุรกิจครอบครัวได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่มีทางเกิดกับธุรกิจทั่วไปที่คัดคนแบบเน้นประสิทธิภาพในการทำงาน
ธุรกิจครอบครัวกับการเปลี่ยนแปลง
ขึ้นชื่อว่าธุรกิจครอบครัว สิ่งที่จะเกิดขึ้นทั่วไปคือองค์กรมักถูกคุมด้วยผู้อาวุโสในครอบครัว อาจเป็นได้ทั้งรุ่นพ่อแม่หรือรุ่นปู่ย่า โดยธรรมชาติ “คนรุ่นเก่า” เหล่านี้มักจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยงาน การว่าจ้างผู้บริหารหรือที่ปรึกษามืออาชีพเข้ามาช่วยบริษัท หรือกระทั่งบริษัทควรจะ “ขยายกิจการ” หรือไม่
ในธุรกิจทั่วไป หากผู้บริหารไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงหรือลองอะไรใหม่ๆ แบบนี้ วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด คือ การเปลี่ยนผู้บริหาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของทางกรรมการบริษัท แต่วิธีนี้เกิดขึ้นได้ยากในธุรกิจครอบครัวที่เหล่าผู้อาวุโสอย่างพ่อแม่ หรือ ปู่ย่า นั่งเก้าอี้ทั้งกรรมการและผู้บริหาร
ในภาวะแบบนี้ สิ่งที่ลูกหลานต้องทำความเข้าใจคือวิธีคิดของคนรุ่นเก่า พร้อมค่อยๆ นำเสนอข้อดีของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเอาผลวิเคราะห์ วิจัย มานำเสนอ ให้เห็นถึงข้อดี หรืออาจจะขอใช้เงินบริษัทบางส่วนมาทำเป็นโครงการนำร่องเพื่อทดลองในสเกลเล็กๆ ก่อนก็ได้ สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นในการโน้มน้าวเหล่าผู้อาวุโสในธุรกิจครอบครวให้เห็นข้อดีของการเปลี่ยนแปลง และอาจทำให้พวกเขาคล้อยตามคนรุ่นใหม่ในที่สุด
ธรรมนูญครอบครัว
ธรรมชาติของธุรกิจครอบครัวคือกิจการมักจะเริ่มจากความสัมพันธ์ทางครอบครัวอย่างไม่เป็นทางการและช่วยกัน “ทำมาหากิน” พอธุรกิจครอบครัวเริ่มขยายใหญ่ขึ้นอาจทำให้ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการเหล่านี้ไม่เข้าทีนัก เพราะไม่มีความชัดเจนว่า ถ้าเกิดปัญหาขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ? ใครจะต้องฟังใครเป็นหลัก? ไปจนถึงเวลามีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในควรจะจัดการอย่างไร
นี่เป็นเหตุผลให้ธุรกิจครอบครัวหลายบริษัทกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมนูญครอบครัว” ขึ้น เพื่อเป็นกฎเกณฑ์ของการอยู่และทำธุรกิจร่วมกันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เหมือนเป็นข้อตกลงที่ใช้ร่วมกันในครอบครัว แม้ในความเป็นจริงจะไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย แต่ก็ทำให้หลายๆ เรื่องมีความชัดเจนและเป็นธรรมขึ้น
เช่น ถ้าในครอบครัวมีความขัดแย้งกันเรื่องจะขยายสาขาหรือไม่? ใครจะเป็นคนตัดสิน? กรณีแบบนี้อาจใช้การโหวตเพื่อช่วยขจัดความขัดแย้งได้ แต่ใครบ้างที่มีสิทธิ์ในการโหวต พ่อ ป้า ลุง ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกัน 3 คน? หรือทั้ง 3 คนรวมกับผู้บริหารรุ่นลูกๆ อีก 10 คน? แล้วแต่ละคนมีเสียงเท่ากันหรือไม่?ด้วยเหตุนี้ จึงต้องระบุเพื่อให้เกิดความชัดเจนในธรรมนูญครอบครัว เช่น ผู้บริหารรุ่นลูกก็มีสิทธิ์ในการโหวต แต่ 1 คนมีเพียง 1 เสียงเท่านั้น ต่างกับผู้บริหารรุ่นพ่อที่ 1 คน มีได้ 2 เสียง เพื่อรักษาสมดุลระหว่างลำดับอาวุโสและการเปิดรับความคิดเห็นของทายาทรุ่นใหม่ เป็นต้น
ความเป็นธรรมของธรรมนูญครอบครัวเป็นไปได้หลากหลาย ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว สามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสมกับคนในครอบครัว แต่หลักใหญ่ใจความคือต้องมีระเบียบระบุอย่างชัดเจนเพื่อใช้จัดการปัญหาต่างๆ ในองค์กรอย่างเป็นระบบ มิเช่นนั้นทุกอย่างจะขึ้นกับวิจารณญาณของผู้บริหารระดับสูงทั้งหมด ซึ่งนั่นทำให้การทำงานมีปัญหาและเกิดความขัดแย้งที่ไม่จำเป็น
แผนสืบทอดกิจการที่ชัดเจน
แผนการสืบทอดกิจการที่ชัดเจนเป็นหัวใจสำคัญว่าธุรกิจครอบครัวจะสามารถดำรงอยู่ได้ในระยะยาวหรือไม่ ซึ่งแผนสืบทอดการบริหารจะประกอบด้วย 4 ขั้นตอนได้แก่ การวางแผน (Initiation) การคัดเลือก (Selection) การพัฒนา (Development) และช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition) โดยมีรายละเอียดดังนี้
ก่อนอื่นผู้มีอำนาจในธุรกิจครอบครัวต้องประกาศหลักการดำเนินการทางธุรกิจ ไปจนถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้สืบทอดแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผน ซึ่งการประกาศนี้มีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าใจในหลักเกณฑ์ว่าใครจะมาเป็นผู้สืบทอดต่อ และทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดรู้สึกว่าการคัดเลือกผู้สืบทอดมีความเป็นธรรมภายใต้หลักการบางอย่าง ไม่ได้เป็นไปตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจในธุรกิจครอบครัวและเมื่อถึงเวลาคัดเลือก ทางผู้มีอำนาจก็ต้องคัดเลือกผู้สืบทอดโดยพิจารณาตามหลักการที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรม
ต่อมาคือการพัฒนาผู้สืบทอดที่ถูกคัดเลือกมาตามหลักการข้างต้น โดยเปิดโอกาสให้เขาได้พัฒนาตัวเอง ภายใต้การสนับสนุนของครอบครัว เช่น “การฝึกงาน” ด้านต่างๆ ของธุรกิจครอบครัว หรือผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้บริหารภายในครอบครัว ตลอดจนเปิดโอกาสให้เขาไปเรียนรู้ “ประสบการณ์” จากโลกภายนอก ตั้งแต่การศึกษา ไปจนถึงการไปทำงานกับบริษัทอื่นๆ ก่อนจะกลับมาทำงานให้ธุรกิจครอบครัวในท้ายที่สุด
ขั้นตอนสุดท้าย ช่วงเปลี่ยนผ่าน ทางผู้มีอำนาจในธุรกิจครอบครัวก็ต้องค่อยๆ แบ่งภาระ ความรับผิดชอบ และอำนาจไปให้ผู้สืบทอดทีละเล็กละน้อย จนสุดท้ายผู้สืบทอดกลายเป็นผู้มีความรับผิดชอบแทนผู้บริหารคนปัจจุบันในที่สุด เป็นอันจบสิ้นกระบวนการสืบทอดกิจการอย่างสมบูรณ์
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าธุรกิจครอบครัวนั้นมีรายละเอียดด้านการบริหารที่ต่างจากธุรกิจทั่วไปตรงที่พื้นฐานความสัมพันธ์ของผู้บริหารทั้งหมดในบริษัทคือคนในครอบครัวเดียวกันนั่นเอง ซึ่งนั่นทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธุรกิจอาจย้อนไปเป็นความขัดแย้งในครอบครัวได้ ดังนั้นการกำหนดกติกาบางอย่างให้ชัดเจน ทุกคนในครอบครัวยอมรับ จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการกำหนดทิศทางของธุรกิจครอบครัว
มาเรียนรู้แนวคิดธุรกิจ SME และหลักในการบริหารธุรกิจครอบครัว ได้ที่ Facebook Fanpage Krungthai SME และ Website Krungthai SME มีเนื้อหาดีๆ ทั้งบทความ วิดีโอ และอินโฟกราฟิกรอคุณอยู่