การเลือกที่ปรึกษาทางธุรกิจนั้นมีความจำเป็นสำหรับธุรกิจทุกประเภทที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญไปในทุกด้าน จึงต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากประสบการณ์ในด้านที่ธุรกิจต้องการ มาเป็นที่ปรึกษาให้แก่ธุรกิจ ซึ่งที่ปรึกษาทางธุรกิจที่เก่งในธุรกิจทั่วไป อาจไม่สามารถจัดการกับปัญหาบางอย่างของธุรกิจครอบครัวได้ เพราะธุรกิจครอบครัวคือโลกอีกแบบหนึ่งที่ต่างออกไป และคนที่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้ต้องมีทักษะเฉพาะ
ในการเลือกที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว เราจึงต้องพิจารณาทักษะเฉพาะทางของที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว โดยสามารถแบ่งทักษะที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องมีกว้างๆ ได้ดังนี้ครับ
1.เข้าใจโครงสร้างธุรกิจครอบครัว และสามารถจัดการกับปัญหาเฉพาะของธุรกิจครอบครัวได้
ธรรมชาติของธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างแบบพิเศษ อย่างเรื่องลำดับความอาวุโส ไม่มีการแยกแยะบทบาทของคนในองค์กรอย่างชัดเจน และผูกพันกันด้วยความสัมพันธ์ในแบบที่ไม่เป็นทางการและทับซ้อนกับธุรกิจอยู่ ต่างกับธุรกิจแบบทั่วไป
ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวจึงต้องเข้าใจลำดับความสัมพันธ์อันเฉพาะและซับซ้อนในแบบที่เราไม่สามารถเห็นได้จากบริษัทปกติทั่วไปก่อน ซึ่งตรงนี้เป็นความเข้าใจระดับพื้นฐานที่ทำให้เราเข้าใจ ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่ส่งผลต่อธุรกิจครอบครัวตามมา เมื่อเข้าใจโครงสร้างความสัมพันธ์นี้แล้ว ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวควรช่วยวางแผนเสนอทางออกเพื่อจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและธุรกิจให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการบริหารธุรกิจและบรรเทาความขัดแย้งภายใน เช่น
กลุ่มทายาทรุ่นลูกมีความเห็นร่วมกันว่าควรขยายกิจการไปยังธุรกิจอื่น แต่รุ่นพ่อเห็นต่างว่ายังไม่ควรขยาย นี่คือความขัดแย้งที่ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวต้องหาทางออก และทางออกอาจไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบเปิดให้โหวตในหมู่คณะกรรมการบริษัท แต่เป็นไปอย่างประนีประนอมเพื่อรักษาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวควบคู่กับธุรกิจ เช่น ที่ปรึกษาครอบครัวต้องเสนอหาทางออกตรงกลาง อย่างเสนอการขยายกิจการเป็นโครงการนำร่องก่อน โดยใช้ผลสำรวจและวิจัยต่างๆ มาโน้มน้าวรุ่นพ่อว่าการขยายกิจการนำร่องนี้มีศักยภาพที่จะโต และให้แบ่งเงินทุนก้อนหนึ่งออกมาเพื่อให้รุ่นลูกได้ทดลอง โดยให้คนที่คุมโครงการนี้เป็นทายาทรุ่นลูกคนที่ทางฝั่งรุ่นพ่อไว้ใจที่สุดก็ได้ ซึ่งคนที่พวกคนรุ่นพ่อไว้ใจที่สุดอาจไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดในการบริหาร ดังนั้นก็จะเห็นได้ว่ามันมีรายละเอียดในทุกขั้นตอนที่ต่างไปจากธุรกิจทั่วๆ ไปในการจัดการความขัดแย้งภายในธุรกิจ
2.รู้หลักการในการวางกติกาของธุรกิจครอบครัว
ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวก็เป็นเหมือนพี่เลี้ยงของธุรกิจครอบครัว ซึ่งในทางอุดมคติก็คือที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวก็ต้องช่วยให้ธุรกิจครอบครัวสามารถยืนได้ด้วยตนเอง และไม่ต้องการที่ปรึกษาในที่สุด
การที่ธุรกิจครอบครัวจะเป็นแบบนั้นได้ สิ่งพื้นฐานที่ต้องทำก็คือสร้าง “ธรรมนูญครอบครัว” หรือระเบียบบริษัท ในเวอร์ชั่นธุรกิจครอบครัวนี่เอง และก็แทบจะมั่นใจได้เลยว่าครอบครัวทั้งหมดที่ว่าจ้างที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวมา ไม่มีครอบครัวไหนที่จะเคยมีประสบการณ์ในการสร้างธรรมนูญครอบครัวมาก่อน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่สำคัญของที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวที่จะต้องช่วยในการร่างธรรมนูญครอบครัวสำหรับธุรกิจครอบครัวหนึ่งๆ
ธรรมนูญครอบครัวที่ดีก็ต้องมีการแบ่งหน้าที่และแบ่งผลประโยชน์ภายในธุรกิจครอบครัวให้ชัดเจนจากที่เคยมีอะไรไม่บ่งชัดก็ต้องทำให้ชัดเจน รวมถึงหลักการเลือกผู้สืบทอดทางธุรกิจ เพื่อเป็นหลักประกันว่าธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นในอนาคต
และแน่นอนการร่างธรรมนูญครอบครัว ให้ถูกใจทุกฝ่ายทุกคนก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ต้องมีการประนีประนอมในประเด็นต่างๆ ของแต่ละฝ่าย ซึ่งนี่ก็เป็นทักษะที่ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวต้องมีโดยเฉพาะ คือที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวต้องเป็นตัวกลางการเจรจาไกล่เกลี่ย รวมทั้งหาบทบัญญัติที่ทุกฝ่ายรับได้มากที่สุดออกมาให้ได้ ซึ่งทักษะเหล่านี้ คนที่มีความสามารถเขียนกฎระเบียบของบริษัทระดับมือทองนั้นโดยทั่วไปไม่มี แต่คนที่ต้องมีก็คือที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวนี่แหละครับ
3.สามารถหาสมดุลระหว่างธุรกิจครอบครัวกับธุรกิจทั่วไปได้
สุดท้าย ทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวก็คือการสร้างศักยภาพธุรกิจครอบครัวให้สามารถแข่งขันและทัดเทียมกับธุรกิจทั่วไปได้
เป็นที่รู้กันว่า ข้อจำกัดของธุรกิจครอบครัวหลายอย่างนั้นทำให้ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถเป็นไปตามแบบแผนของธุรกิจสมัยใหม่ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตและเปลี่ยนแปลงได้ช้า ไม่ทันต่อการแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันการปรับธุรกิจครอบครัวให้กลายเป็นธุรกิจสมัยใหม่แบบฉับพลัน ก็อาจทำลายความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว หรือกระทั่งทำลายครอบครัวไปเลยก็ได้
ตรงนี้จึงเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวที่จะต้องหาสมดุลระหว่างความเป็นธุรกิจครอบครัวและธุรกิจทั่วไปให้ได้ และนี่เป็นทักษะที่ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวต้องมีจริงๆ เพราะถ้าให้ที่ปรึกษาธุรกิจทั่วไปมาจัดการกับปัญหานี้ เขาก็จะบอกให้ปรับองค์กรเป็นองค์กรธุรกิจสมัยใหม่แบบดื้อๆ ทันที ตามแนวทางของผู้บริหารที่เด็ดขาด ซึ่งนั่นเป็นผลดีแน่นอนในทางธุรกิจก็จริง แต่ไม่ใช่ผลดีกับครอบครัว
หน้าที่ของที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวก็คือต้องหามิติต่างๆ ในธุรกิจครอบครัวว่ามิติไหนควรจะจัดการอย่างไร กล่าวคือถ้ามีมิติไหนที่สามารถจะปรับให้เป็นแบบธุรกิจสมัยใหม่ได้ทันทีเลยแบบไม่มีผลกระทบต่อครอบครัวก็เปลี่ยน มิติไหนเปลี่ยนได้แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวก็ต้องวางแผนในกระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างช้าๆ และเป็นขั้นตอน ส่วนมิติไหนเปลี่ยนไม่ได้เลย ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวก็ต้องหาวิธีวางกลไกที่จะทำให้ให้มิติดังกล่าวไม่กลายมาเป็นข้อด้อยทางการแข่งขันในตลาดของธุรกิจครอบครัว
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวนั้นต้องมีความชำนาญเฉพาะไม่ใช่แค่ทักษะในการบริหารธุรกิจ แต่ต้องมีทักษะความสัมพันธ์ระหว่างคนและมีความสามารถทำงานร่วมกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวได้ เพราะสำหรับธุรกิจครอบครัวแล้ว สิ่งนี้แหละที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สุด และทำให้ธุรกิจครอบครัวมีลักษณะที่เฉพาะจนต้องอาศัยที่ปรึกษาที่เฉพาะอย่างที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว
มาเรียนรู้แนวคิดธุรกิจ SME และหลักในการบริหารธุรกิจครอบครัว ได้ที่ Facebook Fanpage Krungthai SME และ Website Krungthai SME มีเนื้อหาดีๆ ทั้งบทความ วิดีโอ และอินโฟกราฟิกรอคุณอยู่