หน้าหลัก
ผลิตภัณฑ์และบริการ
โปรโมชั่น
ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ
SME Focus Magazine
งานสัมมนา
โครงการอบรม
คำนวณสินเชื่อเบื้องต้น
ค้นหาจุดบริการ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

FOLLOW US Krungthai SME​


สนใจรับวิจัยธุรกิจและความรู้กรุงไทย SME ทางอีเมล์
Krungthai SME

รู้หลักในการวางแผนภาษีมรดก

 

         หลายคนอาจไม่รู้ แต่ทุกวันนี้ บ้านเรามีสิ่งที่เรียกว่า “ภาษีมรดก” แล้วนะครับซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ. 2559 นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของสังคมไทยยุคใหม่ที่มีภาษีแบบนี้ (จริงๆ เคยมีมาแล้วตอนปี พ.ศ 2476 แต่เนื่องจากจัดเก็บไม่ได้เลยยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2487) ซึ่งภาษีมรดกนี้เป็นเรื่องไม่ไกลตัวของผู้ที่ประกอบธุรกิจครอบครัวเลย ดังนั้นเรามารู้จักกันหน่อยดีกว่า

            แท้จริงแล้วภาษีมรดกออกมาเพื่อมุ่งแก้ไขความเหลื่อมล้ำของสังคมในระยะยาว ดังนั้นจึงมุ่งเก็บภาษีคนที่มีทรัพย์สินจำนวนมากๆ เป็นหลัก แต่ก็ยังมีวิธีในการลดภาษีมรดกที่เราต้องจ่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่เช่นกัน

            ประการแรก ต้องดูว่าหากเราเสียชีวิตไป จะมีทรัพย์สินที่ต้องกลายเป็นมรดกมีมูลค่ารวมกันเกิน 100 ล้านบาทหรือไม่ ซึ่งนับเฉพาะทรัพย์สินที่มีการจดทะเบียน หรือ มีหลักฐานการครอบครอง สามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของได้ เช่น เงินฝากในธนาคาร หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์ เป็นต้น หากมูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 100 ล้านบาท ก็จะไม่เสียภาษีมรดก เนื่องจากภาษีมรดกจะเก็บจากผู้รับในส่วนของมรดกที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท

            ถ้าทรัพย์สินที่จะเป็นมรดกเกิน 100 ล้านบาท ก็ต้องดูว่าผู้รับมรดกมีกี่คน? และวางแผนจะให้คนละเท่าไร? ถ้าไม่มีใครจะต้องรับเกิน 100 ล้านบาท ก็ไม่ต้องจ่ายภาษีมรดก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีลูก 3 คน มีทรัพย์สิน 150 ล้านบาท แล้วเราแบ่งมรดกให้ลูกแต่ละคนแบบเท่าๆ กันคนละ 50 ล้านบาท ก็ไม่มีลูกของเราคนไหนต้องเสียภาษีมรดก

            แต่หากมีทรัพย์สินถึง 1,000 ล้านบาท มีผู้รับมรดก 5 คน และแบ่งให้เท่าๆ กันคนละ 200 ล้านบาท แบบนี้ผู้รับมรดกต้องเสียภาษีมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทในอัตราคงที่ 10% แต่ถ้าผู้รับมรดกเป็นบุพการี (พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ทวด และสูงขึ้นไป) หรือผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน โหลน ลื้อ และต่ำลงมา) อัตราภาษีจะลดลงเหลือ 5% ส่วนคู่สมรสนั้นได้รับการยกเว้นภาษีมรดกครับ แม้ได้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาทก็ไม่ต้องเสียภาษีครับ

            นอกจากคู่สมรสแล้ว ผู้ได้รับมรดกคนอื่นๆ ก็สามารถยกเว้นการเสียภาษีมรดกได้ หากแสดงเจตนาเพื่อบริจาคหรือใช้ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือ กิจการสาธารณะประโยชน์ ให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์นั้น หรือ บุคคลหรือองค์การต่างประเทศตามที่กฎหมายกำหนด

            อย่างไรก็ตาม ผู้มีทรัพย์สินจำนวนมากหลายคนจึงเลือกโอนมรดกบางส่วนให้ก่อนขณะยังมีชีวิต และคงเหลือบางส่วนไว้เป็นมรดกเพื่อมอบหลังเสียชีวิต  คล้ายการแยกยอด เพื่อเลี่ยงภาษีมรดก แต่รัฐก็รู้ทันจึงออกภาษีมาอีกตัวพร้อมๆ กับภาษีมรดก เพื่อป้องกันการทำแบบนี้ โดยเรียกว่า “ภาษีการรับการให้” ที่กำหนดว่าผู้รับทรัพย์สินต้องเสียภาษี 5% ของส่วนที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท แต่ถ้าผู้รับทรัพย์สินเป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะขยายเพดานเป็นส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทจึงต้องเสียภาษี 5%

            ดังนั้น ผู้ที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก จึงควรวางแผนการส่งมอบมรดกก่อนเสียชีวิต เช่น มีทรัพย์สิน 1,000 ล้านบาท ต้องการส่งมอบมรดกให้ 5 คน คือ ภรรยา ลูก 3 คน และเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท 1 คน โดยแบ่งคนละ 200 ล้านบาทเท่าๆ กัน ควรวางแผนการส่งมอบดังนี้

  • ภรรยา สามารถรับมอบเป็นมรดกหลังเราเสียชีวิตได้ 200 ล้านบาทในคราวเดียว เนื่องจากเป็นผู้ได้รับยกเว้นภาษีมรดกตามกฎหมาย
  • ลูกทั้ง 3 คน ควรวางแผนทยอยส่งมอบให้ล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปี ปีละไม่เกิน 20 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้เพดานภาษีการรับการให้ ลูกจึงไม่ต้องเสียภาษีการรับการให้ 5% ในส่วนที่เหลืออีกคนละ 100 ล้านบาทนั้น ค่อยส่งมอบเป็นมรดกภายหลังเราเสียชีวิตได้ โดยอยู่ภายใต้เพดานภาษีมรดกไม่เกิน 100 ล้านบาท จึงไม่ต้องเสียภาษีมรดก 5% เช่นเดียวกัน
  • ส่วนเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทนั้น ควรวางแผนทยอยส่งมอบให้ล่วงหน้าอย่างน้อย 10 ปี ปีละไม่เกิน 10  ล้านบาท เนื่องจากเพดานภาษีการรับการให้แก่บุคคลอื่น ที่มิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสนั้น สูงสุดอยู่ที่ 10 ล้านบาท และส่วนที่เหลืออีก 100 ล้านบาท สามารถส่งมอบเป็นมรดกภายหลังเราเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน

            ทั้งหมดนี้คือวิธีวางแผนภาษีมรดกเพื่อให้ผู้รับมรดกเสียภาษีน้อยที่สุด อย่างไรก็ดีหากมีความจำเป็นต้องรับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ส่วนที่เกินมาก็ต้องไปแจ้งและเสียภาษีกับทางสรรพากรภายใน 150 วันนับจากวันที่ได้รับมรดกครับ และสามารถขอผ่อนชำระภาษีได้ภายใน 2 ปีโดยไม่มีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มด้วยนะครับ

            แต่หากไปแจ้งและเสียภาษีแก่สรรพากรล่าช้ากว่า 150 วันต้องจ่ายเบี้ยปรับ 1 เท่า บวกกับเงินเพิ่ม(ดอกเบี้ยที่จ่ายล่าช้า) อีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนนับจากวันที่ครบกำหนด หรือหากยื่นเสียภาษีไม่ครบถ้วนและสรรพากรตรวจพบย้อนหลัง ก็มีเบี้ยปรับเช่นกันครับ คือ 0.5 เท่า บวกกับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน

            ดังนั้น หากเรามีการวางแผนการส่งมอบมรดกไว้แต่เนิ่นๆ ก็สามารถประหยัดภาษีตรงนี้ไปได้เยอะเลยนะครับ หรือ กระทั่งผู้เสียชีวิตไม่ได้วางแผนไว้ ทำให้เรามีความจำเป็นต้องรับมรดกเกินกว่า 100 ล้านบาท การรู้กฏกติกาตรงนี้ ก็ช่วยให้เราไม่ต้องเสียเบี้ยปรับได้ครับ

            มาเรียนรู้แนวคิดธุรกิจ SME และหลักการที่จำเป็นสำหรับธุรกิจครอบครัวได้ที่ Facebook Fanpage Krungthai SME และ Website Krungthai SME มีเนื้อหาดีๆ ทั้งบทความ วิดีโอ และอินโฟกราฟิกรอคุณอยู่