หน้าหลัก
ผลิตภัณฑ์และบริการ
โปรโมชั่น
ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ
SME Focus Magazine
งานสัมมนา
โครงการอบรม
คำนวณสินเชื่อเบื้องต้น
ค้นหาจุดบริการ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

FOLLOW US Krungthai SME​


สนใจรับวิจัยธุรกิจและความรู้กรุงไทย SME ทางอีเมล์
Krungthai SME

ทางรอดธุรกิจครอบครัวในยุค Disruption

 

            เวลาพูดถึงธุรกิจโดยทั่วไป เราจะนึกภาพของผู้ประกอบการที่ก่อร่างสร้างตัวสร้างธุรกิจใหม่ของตัวเองขึ้นมาจนร่ำรวยมีกิจการของตัวเอง

            อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้ว ในประเทศไทย ธุรกิจ “ในระบบ” ราวๆ 4 ใน 5 ของทั้งหมดไม่ได้มีลักษณะแบบนั้น แต่มีลักษณะเป็น “ธุรกิจครอบครัว” หรือเป็นบริษัทที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย

            ลักษณะสำคัญของธุรกิจครอบครัวโดยรวมก็มักจะมีความอนุรักษ์นิยมทางธุรกิจพอควร กล่าวคือจะไม่นิยมเปลี่ยนแปลงกิจการของตัวเองโดยไม่จำเป็น เพราะความเป็นธุรกิจครอบครัวนั้นหมายถึงการที่จะมีคนจำนวนมากในครอบครัว มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการตัดสินใจทางธุรกิจ ซึ่งทำให้การไปหาแนวทางธุรกิจใหม่ๆ เป็นไปได้ยากพอสมควร

ผลที่ตามมาคือ ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่กลายเป็นธุรกิจที่ปรับตัวเข้ากับภาวะการเปลี่ยนแปลงในตลาดแบบก้าวกระโดด หรือ Disruption ได้ไม่ดี ทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงโมเดลธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดมานักต่อนักแล้วในโลกปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารวิ่งเร็วสุดๆ

            และการที่ธุรกิจแบบครอบครัว ไม่สามารถรับมือกับ Disruption ได้ดี หรือไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก Disruption ได้เท่าที่ควร เช่น ไม่ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการเพิ่มช่องทางขายสินค้าและให้บริการ ไปจนถึงไม่ใช้ Social Media เป็นช่องทางทำการตลาด ในท้ายที่สุดธุรกิจอาจจบสิ้นลงในยุค Disrupt นี้

            นี่ก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะครับ และสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจขนาดใหญ่ แม้กระทั่ง “ธุรกิจครอบครัว” ขนาดใหญ่โตมโหฬารอย่าง Walmart ในอเมริกา ยังถูกรุกรานจากอาณาจักร e-commerce อย่าง Amazon  ซึ่งเห็นได้ชัดว่า Walmart นี่ “ไปไม่เป็น” เลย และกิจการก็ถดถอยอย่างสุดๆ

            ภาวะที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าเสียดายเพราะว่า “ข้อได้เปรียบ” จริงๆ ของธุรกิจครอบครัวคือการมี “ทุน” ในการทำอะไรใหม่ๆ มากกว่าคนอื่นที่ต้องเริ่มจากศูนย์ แต่ลักษณะอันเชื่องช้าของธุรกิจครอบครัวเองก็ทำให้ข้อได้เปรียบแบบนี้ไม่ถูกใช้ออกมา

            ดังนั้นในแง่หนึ่ง “ทางรอด” ของธุรกิจครอบครัวในระยะยาวที่เศรษฐกิจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็คือต้องมีกระบวนการใดก็ได้ในการทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นการรวมอำนาจในการตัดสินใจมาจากบางคนของครอบครัว หรือการจ้างนักบริหารมืออาชีพมาบริหารธุรกิจ(CEO) แล้วให้คนในครอบครัวเป็นกรรมการบริษัทหรือผู้ถือหุ้นแทน

            นี่คือทางออกมาตรฐาน ซึ่งเอาจริงๆ ก็อาจเกิดขึ้นยากในโครงสร้างธุรกิจครอบครัวในไทยที่ดูจะไม่ใว้ใจในกระบวนการรวมอำนาจ หรือการเอา “คนนอก” มาบริหารแบบนี้ แต่ในความเป็นจริงนี่เป็นสิ่งที่ได้ผลกับธุรกิจครอบครัวจำนวนมาก

            และแน่นอนว่าถ้าไปถามนักวางกลยุทธ์ที่ไหน นักวางกลยุทธ์ก็คงจะให้คำตอบรวมๆ ที่น่าจะสรุปสั้นๆ ได้ว่าธุรกิจครอบครัวแบบเดิมๆ “ควรจะทำตัวเหมือน Startup” ที่จะกระโดดเข้าหาความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ให้ “ทำตัวเป็น Venture Capital” ที่คอยให้ทุนเพื่อไปเป็นหุ้นส่วนของธุรกิจใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นและจะกำลัง Disrupt โลกเก่า

            แต่ในทางปฏิบัติ นี่กลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าคนในครอบครัวทุกคน หรือกระทั่งส่วนใหญ่ ไม่ได้เห็นไปในทางเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ก็ยากจะเกิดขึ้นได้

            ลองนึกดูก็ได้ครับ สมมุติว่าทายาทรุ่นใหม่มีความเห็นไปทางเดียวกันหมดว่าธุรกิจในรูปแบบเดิมของตระกูลไม่น่าไปรอดแล้ว แต่คนรุ่นพ่อแม่ลุงป้าน้าอา กลับไม่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงก็ยากจะเกิดขึ้น ซึ่งบางทีกว่าจะรอให้เหล่า “คนรุ่นพ่อ” มีอิทธิพลน้อยลงจนไม่อาจยับยั้งความเปลี่ยนแปลงได้ก็อาจสายไปเสียแล้ว

            จริงอยู่ที่ว่าเศรษฐกิจประเทศไทยมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงไปทีละช้าๆ ซึ่งคล้ายกับญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วย “ธุรกิจครอบครัว” เหมือนเรา และการที่จะมีอะไร Disrupt พรวดพราดนั้นเป็นไปได้อย่างยากเย็น และเป็นไปได้ช้ากว่าสังคมที่เต็มไปด้วย Startup หน้าใหม่ที่โผล่มาตลอดเวลาอย่างอเมริกา

            ซึ่งนี่อาจเป็นความโชคดีในระยะสั้นของธุรกิจครอบครัวในไทย แต่ในระยะยาวก็ดูจะไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า Disruption จะไม่เกิด ดังนั้น ทางที่ดีธุรกิจครอบครัวก็ควรจะค่อยๆ พยายามปรับตัวไปตั้งแต่วันนี้เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่สักวันย่อมมาถึงครับ

            มาเรียนรู้แนวคิดธุรกิจ SME และหลักในการบริหารธุรกิจครอบครัว ได้ที่ Facebook Fanpage Krungthai SME และ Website Krungthai SME มีเนื้อหาดีๆ ทั้งบทความ วิดีโอ และอินโฟกราฟิกรอคุณอยู่