การวางแผนภาษีธุรกิจให้ยั่งยืนสำหรับนิติบุคคลนั้น หลักๆ แล้วมี 3 องค์ประกอบด้วยกัน คือ
- การกำหนดทุนจดทะเบียนให้มีประสิทธิภาพทางภาษีที่สุด
- การลดรายจ่ายต้องห้ามให้มากที่สุด
- เพิ่มรายจ่ายที่หักได้เพิ่มให้มากที่สุด
ส่วนแต่ละองค์ประกอบจะเป็นอย่างไรไปดูกันครับ
การกำหนดทุนจดทะเบียนและอัตราภาษี
โดยทั่วไปแล้วก็จะถือกันว่าบริษัทยิ่งมีทุนจดทะเบียนสูงก็จะยิ่งมีความน่าเชื่อถือเพราะถือว่าบริษัทมี “ทุน” สูง อย่างไรก็ดี การที่บริษัทมีทุนจดทะเบียนสูงเกินไปก็ไม่ได้ดีเสมอไปในเชิงภาษี
เป็นที่รู้กันว่าอัตราภาษีนิติบุคคลในไทยคือ 20% จากกำไรสุทธิ อย่างไรก็ดี สิ่งที่อาจไม่รู้กันนักก็คือสำหรับบริษัทที่ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาทจะต้องคำนวณภาษีอีกแบบซึ่งจะทำให้บริษัทเสียภาษีต่ำกว่า
กล่าวคือในขณะที่บริษัทที่ทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาทต้องเสียภาษี 20% ทุกบาทของกำไรสุทธิ บริษัทที่ทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 5 ล้านบาทจะได้รับการงดเว้นภาษีในกำไรสุทธิตั้งแต่บาทแรกถึง 300,000 บาท และกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001-3,000,000 บาทจะเสียภาษีเพียง 10% และกำไรสุทธิที่เกิน 3,000,000 บาทขึ้นไปถึงจะต้องเสียภาษี 20%
ดังนั้นในแง่นี้ ถ้ากำไรสุทธิเท่ากันบริษัทที่ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5,000,000 บาท จะเสียภาษีน้อยกว่าบริษัทที่ทุนจดทะเบียนเกิน 5,000,000 บาทเสมอ
นอกจากนี้การที่บริษัทที่ทุนจดทะเบียนต่ำก็ยังอาจได้สิทธิประโยชน์ของนโยบายในการช่วยบริษัทขนาดกลางและเล็กของรัฐบาลอีกถ้ามี เนื่องจากเกณฑ์ในการแบ่งขนาดบริษัทของรัฐบาล โดยทั่วไปก็จะแยกตามทุนจดทะเบียนนี่แหละครับ
ทั้งหมดนี้จึงทำให้บริษัทจะต้องคิดคำนวณดีๆ ว่าควรจะมีทุนจดทะเบียนเท่าใด เพราะการที่ทุนจดทะเบียนมากกว่าโดยทั่วไปจะทำให้บริษัทมีความน่าเชื่อถือกว่าในสายตาของนักลงทุนและสถาบันทางการเงินก็จริง แต่ก็อย่างที่กล่าวมา การที่บริษัทมีทุนจดทะเบียนที่มากก็อาจทำให้บริษัทพลาดสิทธิประโยชน์ทางภาษีของบริษัทที่ทุนจดทะเบียนต่ำด้วย
รายจ่ายต้องห้าม
รายจ่ายต้องห้ามถ้าจะให้อธิบายอย่างง่ายที่สุดก็คือรายจ่ายที่บริษัทต้องลงในบัญชีปกติเพราะเป็นการใช้เงินบริษัทไป แต่กลับไม่สามารถนำมาคิดเป็นรายจ่ายในทางภาษีได้ ซึ่งในทางหลักการบริษัทที่มีการวางแผนภาษีที่ดีก็ควรจะหลีกเลี่ยงรายจ่ายต้องห้ามต่างๆ ถ้าไม่จำเป็น
รายจ่ายต้องห้ามมีหลายหมวดหมู่ด้วยกัน แต่สิ่งที่ธุรกิจทั่วๆ ไปต้องระวังเป็นพิเศษอาทิ รายจ่ายตามประเพณีที่อยู่นอกเหนือระเบียบบริษัท รายจ่ายค่ารับรองลูกค้า และรายจ่ายที่ไม่มีผู้รับ เป็นต้น
รายจ่ายตามประเพณีเป็นสิ่งที่บริษัทเล็กๆ ต้องเผชิญจำนวนมาก เนื่องจากบริษัทที่ “ดูแลกันแบบครอบครัว” ทางเจ้าของบริษัทก็มักจะได้รับการคาดหวังในการช่วยลูกน้องในพิธีกรรมต่างๆ ของชีวิต เช่น งานบวช งานแต่งงาน หรือกระทั่งงานศพ อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินเหล่านี้จะควักไปจากกระเป๋าบริษัท แต่ถ้าบริษัทไม่มีระเบียบชัดเจนถึง “สวัสดิการ” ของพนักงานในโอกาสเหล่านี้ บริษัทจะไม่มีสิทธิ์นำมาหักเป็นรายจ่ายตอนเสียภาษีได้
และในทำนองเดียวกัน “ค่าน้ำมัน” ของผู้บริหารบริษัท ถ้าไม่มีระเบียบเกี่ยวกับค่าน้ำมันประจำตำแหน่งชัดเจนในระเบียบบริษัท แม้ว่าทางผู้บริหารจะเอาเงินบริษัทออกไป แต่มันก็ไม่สามารถนำมาหักภาษีได้เช่นกัน
ส่วนรายจ่ายรับรองลูกค้า ถือว่าเป็นรายจ่ายที่นำมาหักภาษีได้ก็จริง แต่ในทางภาษีก็จะมีเพดานของรายจ่ายที่นำมาหักภาษีได้อยู่ เช่น ไม่สามารถหักค่ารับรองได้เกิน 2,000 บาทต่อคนต่อครั้ง และค่ารับรองทั้งหมดในปีภาษีหนึ่งๆ ก็รวมกันห้ามเกิน 0.3% ของรายได้ในปีภาษีนั้นเป็นต้น
สุดท้ายสิ่งที่บริษัทต้องระวังเป็นพิเศษเลยก็คือบรรดารายจ่ายที่ไม่มีผู้รับ กล่าวอีกแบบคือรายจ่ายที่ไม่มีหลักฐานการชำระเงินชัดเจน ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าสังคมไทยเป็นสังคมเงินสด การซื้อสินค้าและบริการเล็กๆ น้อยๆ โดยทั่วไปก็จะไม่มีการออกใบเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออุปกรณ์ออฟฟิศเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการจ้างมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปส่งเอกสาร ซึ่งงบเหล่านี้ในทางปฏิบัติบริษัทก็จะตั้งงบกองกลางเพื่อจัดการเรื่องเบ็ดเตล็ดไว้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่พึงระวังก็คือ รายจ่ายแบบนี้จะนำไปหักภาษีไม่ได้เนื่องจากไม่มีผู้รับ และหลักการปฏิบัติที่ดีในทางภาษีก็คือ บริษัทควรจะซื้อสินค้าและใช้บริการที่มีการออกใบเสร็จรับเงินเท่านั้นเพื่อนำไปหักภาษี
รายจ่ายที่หักได้เพิ่ม
ถ้ารายจ่ายต้องห้ามเป็นรายจ่ายที่บริษัทควรจะมีให้น้อยแต่จำเป็น รายจ่ายที่หักภาษีได้เพิ่มก็เป็นรายจ่ายที่บริษัทควรจะมีให้มากเข้าไว้
รายจ่ายที่หักได้เพิ่มคือรายจ่ายที่จะสามารถหักเป็นรายจ่ายเวลาหักภาษีได้มากกว่าเงินที่บริษัทต้องจ่ายไปจริงๆ ซึ่งโดยทั่วไปก็จะเป็นการสามารถหักรายจ่ายได้เพิ่มเป็นเท่าตัว
รายจ่ายพวกนี้มักจะกระจายไปตามกฎหมายฉบับต่างๆ แต่หลักๆ แล้วมันคือแรงจูงใจที่ภาครัฐสร้างขึ้นเพื่อให้ภาคธุรกิจมีการใช้จ่ายบางอย่างในสิ่งที่รัฐต้องการสนับสนุนให้เกิด รายจ่ายพวกนี้ เช่น
- รายจ่ายด้านการอบรมพนักงานในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมสามารถนำไปหักภาษีเงินได้ของบริษัทได้สูงสุดถึง 200% ของค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม กล่าวคือถ้าบริษัทมีต้นทุนการส่งพนักงานไปฝึกอบรม 10,000 บาท โดยไปอบรมในสถานศึกษาที่เป็นไปตามข้อกำหนดของกระทรวงการคลัง บริษัทจะสามารถนำค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปหักเป็นรายจ่ายตอนเสียภาษีได้ถึง 20,000 บาท
- รายจ่ายในการว่าจ้างคนพิการเข้าทำงาน สามารถนำค่าจ้างคนพิการมาหักเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ถึง 2 เท่าของที่จ่ายเป็นค่าจ้างคนพิการ เช่น ค่าจ้างที่จ่ายจริงคือ 120,000 บาท สามารถถือเป็นรายจ่ายได้ถึง 240,000 บาท
ตลอดจนรายจ่ายในการซื้อหนังสือเข้าบริษัทมาให้คนในบริษัทอ่าน ไปจนถึงรายจ่ายเพื่อสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐกำหนด ก็สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่าตัวเช่นกัน (สามารถตรวจสอบรายจ่ายอื่นๆ ที่สามารถนำไปหักได้เพิ่มได้ที่ กรมสรรพากร)
จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วหลักการวางแผนภาษีของนิติบุคคลให้ยั่งยืนมันไม่ได้ยากเลยครับ หลักมันมีแค่นี้เอง อย่างไรก็ดี ความยากของมันก็จะอยู่ที่รายละเอียดในการจัดการจริงๆ มากกว่า ซึ่งนั่นต้องการการเอาข้อมูลจำนวนมากมาพิจารณาพร้อมๆ กันว่าบริษัทควรจะมีทุนจดทะเบียนเท่าใด? บริษัทต้องมีรายจ่ายต้องห้ามใดบ้างที่หักภาษีไม่ได้แต่มันจำเป็นจริงๆ ที่ต้องมี? ไปจนถึงบริษัทควรจะมีรายจ่ายที่หักได้เพิ่มเท่าใด? จึงจะเป็นประโยชน์กับบริษัทที่สุด
มาเรียนรู้แนวคิดธุรกิจ SME และหลักในการวางแผนภาษีสำหรับ SMEs ได้ที่ Facebook Fanpage Krungthai SME และ Website Krungthai SME มีเนื้อหาดีๆ ทั้งบทความ วิดีโอ และอินโฟกราฟิกรอคุณอยู่