หน้าหลัก
ผลิตภัณฑ์และบริการ
โปรโมชั่น
ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ
SME Focus Magazine
งานสัมมนา
โครงการอบรม
คำนวณสินเชื่อเบื้องต้น
ค้นหาจุดบริการ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

FOLLOW US Krungthai SME​


สนใจรับวิจัยธุรกิจและความรู้กรุงไทย SME ทางอีเมล์
Krungthai SME

ข้อดีของการแปลงสภาพจากธุรกิจบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล

 

ข้อดีของการแปลงสภาพจากธุรกิจบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล

แน่นอนว่าในตอนเริ่มทำธุรกิจ ช่วงเริ่มต้น นักธุรกิจหน้าใหม่หลายคนคงจดทะเบียนธุรกิจในนามบุคคลธรรมดามากกว่าการจดเป็นนิติบุคคล และเมื่อทำธุรกิจไปสักพักใหญ่ ก็อาจเกิดคำถามว่าควรจะ “แปลงสภาพ” ธุรกิจของตัวเองจากธุรกิจบุคคลธรรมดาไปเป็นธุรกิจแบบนิติบุคคลดีหรือไม่

ซึ่งพอคำถามนี้เกิดขึ้นมา เราจะตอบได้อย่างเหมาะสมก็ต่อเมื่อเราได้เปรียบเทียบ ข้อดีข้อเสียระหว่างการเป็นธุรกิจแบบบุคคลธรรมดากับธุรกิจแบบนิติบุคคลเรียบร้อยแล้ว

สำหรับธุรกิจบุคคลธรรมดา คนที่เริ่มทำธุรกิจด้วยตัวคนเดียวก็คงจะเห็นข้อดีที่ความคล่องตัวในการตัดสินใจต่างๆ ทางธุรกิจโดยไม่ต้องปรึกษาใคร นอกจากนี้การเสียภาษีก็เสียภาษีแบบบุคคลธรรมดาและหักค่าใช้จ่ายธุรกิจแบบเหมาตามที่สรรพากรกำหนด ไม่ต้องทำบัญชีธุรกิจเพื่อส่งให้กรมสรรพากรให้วุ่นวาย แล้วก็ไม่ต้องเสียเงินให้กับทางผู้สอบบัญชีทุกๆ รอบบัญชีด้วย

ฟังดูแบบนี้ก็ดูการทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา ดีไปหมด จะไป “แปลงสภาพ” เป็นนิติบุคคลให้ชีวิตวุ่นวายไปทำไม?

แต่จริงๆ ณ ตอนนี้การเป็นนิติบุคคลมันก็มีข้อดีหลายข้อครับ

ประการแรก การเป็นนิติบุคคล แม้ว่าจะต้องทำบัญชีส่งสรรพากร แต่นั่นก็หมายความว่า จะทำให้ธุรกิจต้องเสียภาษีตามผลกำไรที่เกิดขึ้นจริงตามบัญชี ถ้าปีไหนธุรกิจ "ขาดทุน" ก็ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งต่างจากการเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา เพราะถ้าธุรกิจขาดทุน แต่ในทางภาษี ยังไงก็จะหักค่าใช้จ่ายได้แค่ตามอัตราเหมาจ่าย หมายถึงยังไงก็ต้องเสียภาษี แม้ว่าจะขาดทุน

ประการที่สอง การเสียภาษีของนิติบุคคลนั้นจะคิดจากกำไรทางบัญชีเท่านั้น และภาษีที่ต้องจ่ายภายใต้กฎหมายไทยมีอัตราสูงสุด 20%  ซึ่งนี่ต่างจากอัตราภาษีแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่อัตราสูงสุดถึง 35% ซึ่งมากกว่าการเสียภาษีของนิติบุคคล

ประการที่สาม การเป็นนิติบุคคลนั้นทำให้ธุรกิจดูมีความน่าเชื่อถือกว่าธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา ทำให้สถาบันทางการเงินมีความเชื่อมั่นในการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจ ซึ่งโอกาสในการได้สินเชื่อที่มากขึ้น ก็หมายถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจที่มากขึ้นด้วย

ประการที่สี่ การเป็นนิติบุคคลนั้นหมายถึงการแยกระหว่างเงินของธุรกิจ และเงินส่วนตัวของเจ้าของธุรกิจได้อย่างชัดเจน นี่ทำให้เกิดความไม่สับสนระหว่างเงินทั้งสองส่วน ซึ่งถ้าธุรกิจเป็นแบบธุรกิจบุคคลธรรมดา หากมีการบริหารจัดการไม่ดีอาจทำให้ไม่สามารถควบคุมธุรกิจได้

ประการสุดท้าย ข้อดีของการเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท ก็คือ การจำกัดความรับผิดชอบต่อหนี้สินของบริษัทตามมูลค่าหุ้นของตัวเองที่ลงไปในบริษัท หรือพูดง่ายๆ คือ ถ้าบริษัทเกิดความเสียหายทางธุรกิจร้ายแรงระดับต้องล้มละลาย เราซึ่งมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ก็จะสูญเสียสินทรัพย์ไปแค่ตามมูลค่าหุ้นเท่านั้น ตัวเราจะไม่ล้มละลายตามบริษัทไปด้วย และสำหรับคนที่ทำธุรกิจ นี่เป็นหลักประกันชั้นดีว่าถ้าธุรกิจพลั้งพลาดไป จะสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ได้อย่างไม่เจ็บตัวมากนัก

นอกจากนี้ ข้อพิจารณาเพิ่มเติมสำหรับการแปลงสภาพก็คือ ล่าสุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จากเดิมที่คนทำธุรกิจเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดาจะสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 65-85% ได้เปลี่ยนให้อัตราหักค่าใช้จ่ายเหมาลดลงเหลือ 60% เท่านั้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือมาตรการภาษีแบบใหม่นี้ทำให้ธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาต้องเสียภาษีมากขึ้นโดยอัตโนมัติแม้ว่าจะมีรายได้เท่าเดิม ซึ่งนโยบายนี้เกิดจากการที่รัฐบาลต้องการให้คนทำธุรกิจ       มาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกันมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าในระดับรายละเอียด การที่ธุรกิจเป็นนิติบุคคลนั้นจะมีข้อดีในระยะยาว โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการจะ “โต” ไปอย่างต่อเนื่อง เพราะอย่างน้อยแค่ผลประโยชน์ทางภาษี ที่ได้จากการจดจะเบียนเป็นนิติบุคคลก็คุ้มค่าแล้ว

...แล้วทำไมการจดเป็นนิติบุคคลมันมีข้อดีเต็มไปหมด แต่คนไม่จดกัน

เหตุผลประการแรก เพราะความเคยชิน คนจำนวนมากชินกับการเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา ซึ่งนั่นอาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับผู้เริ่มธุรกิจ แต่เมื่อธุรกิจเริ่มโตไปเรื่อยๆ แล้ว นั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดไม่ว่าจะในแง่ภาษีหรือในแง่การลงทุนอีกต่อไป แต่คนจำนวนมากก็เคยชินกับวิถีเดิมๆ จนเสียประโยชน์ตรงนี้ไปอย่าง          น่าเสียดาย

เหตุผลประการที่สอง ก็อาจเป็นเพราะคิดว่ากระบวนการมันยุ่งยาก แต่เอาจริงๆ ถ้ามีหลักฐานครบ     การจดทะเบียนสามารถเสร็จได้ภายใน 1 วัน ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนนิติบุคคลแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ซึ่งอันที่จริง การจดทะเบียนก็ไม่ต้องใช้คนมากมายเลยที่จะมา “ร่วมหุ้น” เพราะห้างหุ้นส่วนจำกัดใช้คนขั้นต่ำเพียง 2 คน ส่วนบริษัทจำกัดใช้คนขั้นต่ำเพียง 3 คน นอกจากนี้ คนจำนวนมากก็ยังคิดว่าธุรกิจตัวเอง   ยังเล็กทุนจดทะเบียนคงไม่พอ แต่ในความเป็นจริงกฎหมายระบุไว้ว่า 1 หุ้น จะต้องมีราคาไม่ต่ำกว่า 5 บาท หมายความว่าหากต้องการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีผู้ร่วมหุ้นขั้นต่ำ 2 คน ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำก็เริ่มต้นที่ 10 บาทเท่านั้น ทั้งนี้ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของธุรกิจแต่ละประเภทก็แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ดีแม้ว่ากฎหมายจะระบุทุนจดทะเบียนขั้นต่ำไว้ต่ำ แต่การมีทุนจดทะเบียนให้ต่ำที่สุดก็ไม่เป็นสิ่งที่นิยมจะปฏิบัติกันทางธุรกิจ เพราะโดยทั่วไป ไม่ว่าจะในสายตาของใครตั้งแต่คนทั่วไปจนถึงสถาบันการเงิน บริษัทที่ทุนจดทะเบียนสูง ก็ย่อมมีความน่าเชื่อถือกว่าบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ นอกจากนี้การเพิ่มทุนจดทะเบียนก็ยังเป็นกระบวนการที่ต้องผ่านระบบราชการอีกรอบ ซึ่งภาคธุรกิจโดยทั่วๆ ไปก็ไม่ต้องการจะเข้าสู่กระบวนการด้านเอกสารราชการบ่อยๆ ถ้าไม่จำเป็น

แต่ในทำนองเดียวกัน เขาก็ไม่นิยมมีทุนจดทะเบียนสูงเกินไปเช่นกัน เพราะถ้าทุนจดทะเบียนสูงเกิน      3 ล้านบาท สิทธิประโยชน์ด้านภาษีบางอย่างของบริษัทตามนโยบายสนับสนุน SME ของรัฐบาลนั้นทางบริษัทก็อาจไม่ได้เช่นกัน เพราะสิทธิเหล่านี้ใครจะได้ เขาดูกันที่ทุนจดทะเบียน และรายได้ต่อปีของบริษัท ซึ่งบริษัทถ้าเข้าข่าย SME สิทธิประโยชน์นั้นมีตั้งแต่ ถ้ามีกำไรสุทธิต่ำกว่าที่กำหนดก็ไม่ต้องเสียภาษี ไปจนถึงการได้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า 20% ซึ่งเป็นอัตราภาษีนิติบุคคลสูงสุด

ที่เล่ามาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วถ้าเราก้าวข้ามความเคยชินกับการเสียภาษีบุคคลธรรมดามาได้ และยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ของการเป็นนิติบุคคล เราจะได้ประโยชน์ทางธุรกิจอีกมากมายแน่ๆ และอาจมากขึ้นอีกตามนโยบายส่งเสริมธุรกิจของรัฐบาล ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายพอควร ที่คนทำธุรกิจจะพลาดสิทธิประโยชน์เหล่านี้ไป

เรียนรู้แนวคิดธุรกิจ SME และหลักในการวางแผนภาษีสำหรับ SMEs ได้ที่ Facebook Fanpage Krungthai SME และ Website https://sme.ktb.co.th/sme/ มีเนื้อหาดีๆ ทั้งบทความ วิดีโอ และอินโฟกราฟิกรอคุณอยู่