การวิเคราะห์งบการเงินแบบพื้นฐานมีอะไรบ้าง?
ในการทำความเข้าใจการวิเคราะห์งบการเงิน สิ่งที่น่าจะขาดไม่ได้ก็คือ ตัวอย่างการวิเคราะห์ในกรณีนี้ เราขอสมมุติงบแสดงฐานะทางการเงินของ บริษัท A ในปี 2015-2017 ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์
เราจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบใหญ่ๆ ของงบแสดงฐานะทางการเงินก็คือ สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งส่วนของสินทรัพย์ก็จะถูกแยกเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน กับสินทรัพย์ถาวร ส่วนหนี้ก็จะถูกแยกเป็นหนี้สินระยะสั้น กับหนี้สินระยะยาว
นี่เป็นองค์ประกอบหลักของงบแสดงฐานะทางการเงินที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่างบแสดงฐานะทางการเงิน จะซับซ้อน แค่ไหน องค์ประกอบเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องมี
ทีนี้พอมีงบแสดงฐานะทางการเงินอยู่ในมือแล้ว เราเอามาวิเคราะห์อะไรได้บ้าง?
วิธีการแรกคือการวิเคราะห์ ตัวเลขในแต่ละรายการโดยตรงเลยแบบปีต่อปี ซึ่งนี่เรียกว่า การวิเคราะห์แนวนอน และในกรณีนี้เราจะเห็นได้ว่าสินทรัพย์ของบริษัท A ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จาก 1,000 ล้านบาท ในปี 2015 มาเป็น 1,200 ล้านบาท ในปี 2016 และมาเป็น 1,400 ล้านบาท ในปี 2017
นี่คือวิธีการวิเคราะห์แบบพื้นฐานที่สุด อย่างไรก็ดีการวิเคราะห์แบบนี้มันก็อาจไม่ทำให้เห็นภาพของบริษัทชัดนัก ซึ่งนำมาสู่ การวิเคราะห์แนวตั้ง หรือการพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ของงบแสดงฐานะทางการเงินแบบปีต่อปีหรือข้ามปีก็ได้ ซึ่งโดยทั่วไปมันมักจะทำให้สัดส่วนต่างๆ เป็น % ซึ่งเรียกว่าการทำ Common Size เพื่อให้สะดวกต่อการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบทางการเงินแบบข้ามปี
ในตัวอย่างนี้คือการเอางบแสดงฐานะทางการเงินส่วนสินทรัพย์ของปี 2015-2017 มาทำ Common Size ซึ่งจะทำให้เราเห็นองค์ประกอบของสินทรัพย์แบบเป็นสัดส่วน และทำให้เราเห็นว่าส่วนสินทรัพย์หมุนเวียนในปี 2015 มีถึง 20% แต่ค่อยๆ ลดลงจนเหลือเพียง 14% ในปี 2017 ส่วนทางด้านของสินทรัพย์ถาวรในปี 2015 มีเพียง 80% แต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 86% ในปี 2017 ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่าบริษัท A น่าจะทำการลงทุนด้านสถานที่และเครื่องจักรมากขึ้น เป็นต้น
แนวทางต่อมาของการวิเคราะห์งบแสดงฐานะทางการเงินเรียกว่า การวิเคราะห์แนวโน้ม ซึ่งคล้ายกับการวิเคราะห์แนวนอน คือมักจะเลือกมาวิเคราะห์เฉพาะรายการในงบแสดงฐานะทางการเงิน แต่ความต่างคือ การวิเคราะห์แนวโน้ม มันจะให้ภาพการเติบโตหรือถดถอยเป็น % ซึ่งจะทำให้เราได้ภาพในเชิงสัดส่วนของการเติบโตหรือถดถอยชัดกว่า โดยมาตรฐานของการวิเคราะห์แนวโน้มจะต้องเลือกปีใดปีหนึ่งเป็นปีฐาน แล้วแปลงค่าของปีอื่นๆ ให้เป็น % ของปีฐานที่คิดเป็น 100%
ในกรณีนี้เลือกส่วนสินทรัพย์มาวิเคราะห์แนวโน้ม เราก็จะเห็นได้ว่าถ้ามองจากปี 2015 ที่คิดเป็น 100% ปี 2016 ส่วนสินทรัพย์ก็จะเปลี่ยนเป็น 120% หรือขยายตัวขึ้น 20% ซึ่งในทำนองเดียวกันในปี 2017 ส่วนสินทรัพย์ก็จะคิดเป็น 140% ของปี 2015 ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า ส่วนสินทรัพย์ของบริษัท A ไม่ใช่แค่โตขึ้นเรื่อยๆ แต่โตขึ้น ปีละ 20%
สุดท้าย การนำค่าต่างๆ ในปีๆ หนึ่งของงบแสดงฐานะทางการเงินมาใส่สูตรอัตราส่วนทางการเงิน มันก็เรียกว่า แนวทางการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน ซึ่งโดยทั่วไปอัตราส่วนทางการเงินมีหลายตัวมาก แต่ตัวพื้นฐานที่สุดก็น่าจะเป็น อัตราส่วนสภาพคล่อง ที่เกิดจากการเอาสินทรัพย์หมุนเวียนมาหารด้วยหนี้สินระยะสั้น ซึ่งในตัวอย่างนี้ใช้ของปี 2017 และได้ค่าเท่ากับ 1
การมีอัตราส่วนสภาพคล่องเท่ากับ 1 หมายความว่าบริษัทมีสภาพคล่องในระดับที่ดี เพราะไม่ได้ มีสินทรัพย์หมุนเวียนน้อยไปกว่า หนี้สินระยะสั้น ทั้งนี้ถ้าค่าอัตราส่วนสภาพคล่องได้น้อยกว่า 1 ไปมากๆ ก็แสดงว่าบริษัทมีปัญหาสภาพคล่องมากๆ และอาจก่อให้เกิดปัญหาการชำระหนี้ได้ ในทางกลับกัน ถ้าอัตราส่วนสภาพคล่องเกิน 1 ไปมากๆ มันก็ชี้ให้เห็นว่าบริษัทอาจมีการบริหารเงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเก็บเงินสดไว้มาก แทนที่จะเอาไปลงทุนให้ธุรกิจเติบโต เป็นต้น
ทั้งนี้แม้ว่าดูเผินๆ อัตราส่วนสภาพคล่องจะดูไม่ต่างจากแนวทางการวิเคราะห์แบบอื่นๆ ที่เห็นมาแล้ว แต่มันจะมีประโยชน์มากๆ เมื่อต้องพิจารณาข้อมูลจำนวนมาก เช่น ต้องเทียบสภาพคล่องของบริษัทเป็น 10 ปี หรือต้องประเมินสภาพคล่องของหลายๆ บริษัทพร้อมกัน เป็นต้น
ทั้ง 4 แนวทางการวิเคราะห์งบแสดงฐานะทางการเงินนี้คือแนวทางวิเคราะห์งบแสดงฐานะทางการเงินระดับพื้นฐานที่ใช้กันทั่วโลก และอาจเรียกได้ด้วยซ้ำว่าการวิเคราะห์แบบอื่นๆ ต่าง ก็มาจากพื้นฐาน 4 แบบนี้ทั้งสิ้น ซึ่งความเข้าใจ ในระดับพื้นฐานนี้ มีความสำคัญมากๆ เพราะงบแสดงฐานะทางการเงินจริงๆ นั้น โดยทั่วไปก็ซับซ้อนกว่าตัวอย่างที่ยกมา ในที่นี้มาก
เรียนรู้แนวคิดธุรกิจ SME และหลักในการวิเคราะห์งบการเงิน ได้ที่ Facebook Fanpage Krungthai SME และ Website https://sme.ktb.co.th/sme/ มีเนื้อหาดีๆ ทั้งบทความ วิดีโอ และอินโฟกราฟิกรอคุณอยู่