หน้าหลัก
ผลิตภัณฑ์และบริการ
โปรโมชั่น
ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ
SME Focus Magazine
งานสัมมนา
โครงการอบรม
คำนวณสินเชื่อเบื้องต้น
ค้นหาจุดบริการ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

FOLLOW US Krungthai SME​


สนใจรับวิจัยธุรกิจและความรู้กรุงไทย SME ทางอีเมล์
Krungthai SME

รายการสำคัญของงบการเงินที่มีประเด็นด้านภาษี

 

การทำงบการเงินคือสิ่งที่บริษัทควรจะทำพื้นฐานเพื่อจะได้ทำการวิเคราะห์ผลการดำเนินการของธุรกิจ รวมถึงโอกาสในการขอสินเชื่อไปจนถึงโอกาสการระดมทุนเพิ่มให้กับบริษัท นี่เป็นสิ่งที่บริษัทค่อนข้างจะมีอิสระในการทำ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพของธุรกิจจากมุมมองของบริษัทเอง อย่างไรก็ดี ในอีกแง่มุมหนึ่ง การทำงบการเงินสำหรับการยื่นภาษีก็เป็นสิ่งสำคัญ และมันก็เป็นงบการเงินแบบที่มีข้อกำหนดตามกฎหมายภาษีอย่างชัดเจน

พูดง่ายๆ งบการเงินสำหรับใช้ภายในบริษัทเอง ไม่ได้มีความจำเป็นต้องเหมือนงบการเงินตามกฎหมายภาษี และมีข้อพึงระวังเฉพาะในส่วนต่างๆ ของงบการเงิน ดังจะกล่าวถึงบางส่วนต่อไปนี้

งบดุล

ในภาพรวม สิ่งที่ผู้ทำบัญชีเพื่อยื่นภาษีต้องทำการพิจารณาเป็นพิเศษก็ได้แก่ส่วนของรายรับและรายจ่ายต่างๆ ซึ่งจะเป็นไปตามความเข้าใจและความเหมาะสมของบริษัทเองไม่ได้ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายภาษี ส่วนประกอบต่างๆ ที่ต้องระวังก็เช่น

- รายจ่ายจากภาษีมูลค่าเพิ่ม

ในกรณีของธุรกิจขนาดใหญ่ที่มียอดขายมาก การต้องไปอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเรื่องปกติ และการนำภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาคิดคำนวณในส่วนของรายจ่ายก็เป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ดี นี่ก็ไม่ได้หมายความ ว่าจะเอาภาษีมูลค่าเพิ่มไปคิดบวกกับทุกส่วนได้ แต่มันจะจำกัดอยู่แค่ส่วนของรายรับที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ต้องพึงระวังมากๆ ก็คือถ้าบัญชีที่บริษัทใช้เองมีการรวมภาษีมูลค่าเพิ่มไปอยู่ในส่วนของรายจ่ายแล้ว บัญชีฉบับที่จะต้องส่งให้กับทางสรรพากรก็ต้องทำการแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะตัวภาษีมูลค่าเพิ่มไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นรายจ่ายทางภาษีได้

- กำไร-ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

ในกรณีที่บริษัทมีการรับสกุลเงินต่างประเทศ (โดยเฉพาะบริษัทที่ทำการนำเข้าหรือส่งออก) การได้กำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ และในทางบัญชีก็ต้องมีการแสดงส่วนนี้ออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีข้อผิดพลาดตรงนี้ ทั้งกำไรและขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ก็ควรจะได้รับการบันทึกไว้ในบัญชีแต่แรกที่ลงบัญชี

- ส่วนของผู้ถือหุ้น

ส่วนของผู้ถือหุ้นก็เป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องตรวจสอบให้ดีว่าส่วนที่อยู่ในงบดุลนั้นตรงกับในฐานข้อมูลของกรมพัฒนาการค้าหรือไม่ นอกจากนี้ในทางภาษี ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ยังไม่มีการเรียกชำระเงิน ก็ไม่สามารถนำมาคิดเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นได้ด้วย แต่ถ้ามีการเรียกชำระเงินแล้ว ก็จะคิดเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นได้ โดยจะมีการเพิ่มในส่วนของสินทรัพย์ว่าเป็นลูกหนี้ค่าหุ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ส่วนของผู้ถือหุ้นถือว่ามีความสำคัญพอสมควร เพราะในงบดุล สินทรัพย์ จะต้องเท่ากับ หนี้สิน+ส่วนของผู้ถือหุ้น และในทางปฏิบัติบางครั้งการคำนวณอาจจะออกมาไม่เท่ากัน และส่วนที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพื่อให้เกิดความสมดุลก็คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นนี่เอง

งบกำไรขาดทุน

งบกำไรขาดทุนเป็นงบทางการเงินที่มีความสำคัญอีกตัวหนึ่งในทางภาษี องค์ประกอบต่างๆ ที่ต้องพิจารณาก็มี อาทิ

- ต้องไม่สับสนระหว่างค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ

ส่วนประกอบของค่าใช้จ่ายหลักๆ มี 3 ส่วน คือ ต้นทุนขาย, ค่าใช้จ่ายขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหาร ในมุมของบริษัท บริษัทอาจมองรายจ่ายหนึ่งๆ เป็น “ต้นทุน” ในการขาย แต่ในทางภาษีส่วนดังกล่าวอาจต้องคิดเป็น “ค่าใช้จ่าย” ในการขาย ดังนั้นส่วนนี้เมื่อยื่นภาษี บริษัทต้องปรับงบกำไรขาดทุนให้เป็นไปตามมาตรฐานทางภาษี ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับงบกำไรขาดทุนที่บริษัทนำมาใช้ในการประเมินตัวเอง กล่าวคือ ถ้าทางบริษัทมีมาตรฐานในการนับค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ที่ต่างจากทางกฎหมายภาษี ทางบริษัทก็ต้องแก้ไขค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้ถูกต้องตามหลักค่าใช้จ่ายทางภาษี ในบัญชีชุดที่ต้องใช้เสียภาษีหรือที่ใช้ส่งทางสรรพากรนั่นเอง

- การตีราคาทรัพย์สินและการคิดค่าเสื่อมราคา

ถ้าดูในงบดุลแล้วบริษัทมีสินทรัพย์ถาวรอยู่ สิ่งที่ต้องมีตามมาคือการคิดค่าเสื่อมราคา ในส่วนของ งบกำไรขาดทุนในทางภาษี ซึ่งก็เช่นเดิมว่าต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางภาษีซึ่งก็จะมีการกำหนดวิธีการตีราคาทรัพย์สินการคิดค่าเสื่อมราคาของสิ่งต่างๆ ไว้ชัดเจน และมันอาจไม่ตรงกับของทางบริษัทก็ได้ เช่น ถ้าบริษัท มีที่ดินอยู่ แล้วที่ดินราคาขึ้น ราคาที่ขึ้นมานี้จะไม่ถูกนำมาคำนวณเพิ่มเป็นรายได้เด็ดขาด หรือ ถ้าบริษัท มีเครื่องจักรที่คิดว่าอายุการใช้งานแค่ 4 ปี บริษัทก็ย่อมต้องคิดค่าเสื่อมราคาภายในเองถึง 25% ต่อปี แต่ในทางภาษี บริษัทจะสามารถคิดค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรได้เต็มที่ปีละ 20% เท่านั้น เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดการประเมินราคาและการคิดค่าเสื่อมราคาก็ต้องสอดคล้องกับที่บริษัทระบุไว้ในหมายเหตุงบการเงิน

จะเห็นได้ว่ารายละเอียดเหล่านี้เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่บริษัทที่มีงบทางการเงินที่ใช้ภายในแยกกับงบทางการเงินที่จะต้องนำไปใช้เสียภาษีต้องใส่ใจ ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าจะพูดรวมๆ มันก็คือข้อกำหนดเรื่องการคิดรายได้และรายจ่ายทางภาษีนั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่ที่มักจะเป็นประเด็นก็คือรายได้หรือรายจ่ายที่ “ไม่เกิดขึ้นจริง” แต่ต้องเอามาคิดคำนวณด้วย ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นลงของมูลค่าสินทรัพย์ หรือการคิดค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ และเนื่องจากองค์ประกอบทางการเงินเหล่านี้มีความคลุมเครือ (เพราะมันไม่มีการรับรายได้ หรือเสียรายจ่ายจริง เป็นตัวเงิน) ในทางภาษีมันจึงต้องมีข้อกำหนดเฉพาะ เพื่อให้การคำนวณภาษีออกมาเที่ยงตรงและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

มาเรียนรู้แนวคิดธุรกิจ SME และหลักในการวิเคราะห์งบการเงิน ได้ที่ Facebook Fanpage Krungthai SME และ Website https://sme.ktb.co.th/sme/