หน้าหลัก
ผลิตภัณฑ์และบริการ
โปรโมชั่น
ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ
SME Focus Magazine
งานสัมมนา
โครงการอบรม
คำนวณสินเชื่อเบื้องต้น
ค้นหาจุดบริการ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

FOLLOW US Krungthai SME​


สนใจรับวิจัยธุรกิจและความรู้กรุงไทย SME ทางอีเมล์
Krungthai SME

รู้จุดแข็งจุดอ่อนธุรกิจด้วย “Common Size”

 

หากเราต้องการบริหารบริษัทให้ประสบความสำเร็จ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทนั้นมีผลอย่างมาก เพราะทำให้เรารู้จุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจ ซึ่งหลายบริษัทต่างมีเทคนิคและเลือกใช้เครื่องมือช่วยวิเคราะห์งบหลากหลายแตกต่างกันไป แต่ “Common Size” หรือ “Common Size Analysis” มักเป็นเครื่องมือแรกๆ ที่ถูกพูดถึงและหลายบริษัทเลือกใช้

ว่าแต่ Common Size Analysis? มันคืออะไรกันล่ะ

Common Size Analysis หรือการวิเคราะห์ที่มีชื่อไทยว่า “การย่อส่วนตามแนวดิ่ง” ชื่ออาจฟังดูน่างง แต่ในความเป็นจริงมันคือการวิเคราะห์สัดส่วนขององค์ประกอบต่างๆ ในงบการเงินเท่านั้นเอง พูดง่ายๆ คือมันทำมาเพื่อเปรียบเทียบโครงสร้างทางการเงินของบริษัทในช่วงเวลาหนึ่งกับอีกช่วงเวลาหนึ่ง หรือเอาไว้เปรียบเทียบกับโครงสร้างทางการเงินบริษัทอื่นๆ เท่านี้เองครับ ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เช่น ถ้าบริษัท A ในปี 2016 มี สินทรัพย์หมุนเวียน 500 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ถาวร 1,500 ล้านบาท พอมาดูแบบ Common Size เราก็จะพบว่าในสัดส่วนของสินทรัพย์ทั้งหมด บริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียน 25% และมีสินทรัพย์ถาวร 75%

แค่นี้เองเหรอ? คำตอบคือในทางคอนเซ็ปต์มันเท่านี้เองครับ แต่ส่วนที่ท้าทายกว่าคือการวิเคราะห์ต่อจากนี้

ตัวอย่างเช่น ถ้าปี 2017 บริษัท A มี สินทรัพย์หมุนเวียน 300 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ถาวร 2,200 ล้านบาท จับมาทำ Common Size ก็คือการเอาทรัพย์สินส่วนนั้นๆ มาหารด้วยทรัพย์สินทั้งหมด แล้วคูณด้วย 100 อันจะทำให้ผลที่ได้ออกมาเป็น % แล้วเราก็จะพบความเปลี่ยนแปลง คือตอนนี้ บริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียน 12% และมีสินทรัพย์ถาวรถึง 88%

แล้วจากข้อมูลแค่นี้ Common Size Analysis บอกอะไรเราได้?

สิ่งที่ชัดๆ คือ จากข้อมูลแค่นี้เราบอกได้ว่าบริษัท A กำลังโตครับ เพราะมีสัดส่วนของสินทรัพย์ถาวร    (พวกอาคารและเครื่องจักร) เพิ่มขึ้น พูดง่ายๆ คือการขยายตัวของสัดส่วนสินทรัพย์ถาวรนั้นเป็นตัวบ่งชี้ว่าบริษัท  ได้ทำการลงทุนระยะยาวเพื่อการเติบโตในอนาคต

แต่การเติบโตนี้จะเป็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพหรือไม่ ข้อมูลแค่นี้ยังไม่พอครับ เรายังต้องไปดูอีกด้าน  ของงบดุล ซึ่งคือส่วนของหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น

สมมติในปี 2016 บริษัท A มีหนี้ระยะสั้น 10% หนี้ระยะยาว 40% ส่วนของผู้ถือหุ้น 50% และในปี 2017 บริษัท A มีหนี้ระยะสั้น 30% หนี้ระยะยาว 40% ส่วนของผู้ถือหุ้น 30%

เราจะเห็นได้ว่าในปี 2016 บริษัท A มีสภาพคล่องพอที่จะชำระหนี้ระยะสั้นที่เป็น 10% ได้สบายๆ เพราะบริษัท A มีสินทรัพย์หมุนเวียนถึง 25%

อย่างไรก็ดีพอมาในปี 2017 ภาพเริ่มเปลี่ยนไป หนี้ระยะสั้นเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในขณะที่ทรัพย์สินหมุนเวียนลดลงไปเหลือแค่ 12% อันนี้จะทำให้เห็นว่าบริษัทมีความเสี่ยงสูงที่จะขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้ระยะสั้น

ที่เลวร้ายกว่านั้น ในขณะที่บริษัทมีสินทรัพย์ถาวรขยายจากปี 2016 มาปี 2017 จาก 75% เป็น 88% สัดส่วนของหนี้ระยะยาวกลับคงเดิมที่ 40% และส่วนของผู้ถือหุ้นนั้นลดลงจาก 50% ไปเป็น 30% แสดงให้เห็นว่าบริษัทนั้นทำการเพิ่มหนี้ระยะสั้นเพื่อทำการลงทุนขยายสินทรัพย์ถาวร ซึ่งในทางการวิเคราะห์ นี่ถือว่าบริษัททำการสร้างหนี้ผิดประเภท เพราะสินทรัพย์ถาวรคือสินทรัพย์ที่จะยังไม่สร้างมูลค่าในระยะสั้น ดังนั้นแหล่งเงินทุนควรจะเป็นแหล่งเงินทุนในระยะยาว ซึ่งบริษัทควรจะทำการสร้างหนี้ระยะยาวกับสถาบันทางการเงิน หรือต้องขายหุ้นให้ผู้ลงทุน   ในบริษัท ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้น

จากการดูข้อมูลแบบนี้ เราจะเห็นได้ว่าบริษัท A นั้นกำลังสร้างภาพให้บริษัทเติบโตขึ้น ผ่านการใช้แหล่งเงินทุนผิดประเภท คือการใช้หนี้ระยะสั้นที่จะต้องมีกำหนดชำระภายใน 1 ปี ไปขยายสินทรัพย์ถาวรซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้างผลตอบแทนกลับมา เป็นต้น

แล้วบริษัท A จะแก้ปัญหาอย่างไรดี? คำตอบง่ายๆ ก็คือก็ต้องเปลี่ยนหนี้ระยะสั้นให้กลายเป็นหนี้ระยะยาวหรือเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นแทน พูดง่ายๆ คือถ้าบริษัท A ไม่ไปกู้เงินระยะยาวกับธนาคารเพิ่มมาโปะหนี้ระยะสั้น   บริษัท A ก็ต้องขายหุ้นเพิ่ม เพื่อเอาเงินส่วนนี้มาชำระหนี้ระยะสั้น

การทำแบบนี้จะทำให้สัดส่วนของสินทรัพย์ กับสัดส่วนของหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นมีความสมดุลขึ้น ซึ่งความสมดุลดังกล่าวก็จะเป็นภาพสะท้อนของธุรกิจที่กำลังเติบโตไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

ทั้งนี้บางทีเราก็อาจต้องลงไปดูในรายละเอียดของสินทรัพย์ด้วยเพื่อเราจะได้ไม่เข้าใจผิด ยกตัวอย่างเช่น อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ นั้นไม่ถือเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนแต่ถือเป็นสินทรัพย์ถาวร ถ้าบริษัท A เป็นบริษัทที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขาย หรือทำธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา นัยยะของการเพิ่มขึ้น ของสินทรัพย์ถาวรของบริษัท A ก็ย่อมต่างจากบริษัทที่ผลิตสินค้าขายที่การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ถาวรมักเป็นการขยายโรงงานฐานการผลิต เพราะสินทรัพย์ถาวรที่เพิ่มขึ้นของบริษัท A นั้นมีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและแปรรูปเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนได้อย่างรวดเร็วกว่า เป็นต้น

อีกประเด็นที่สำคัญในการทำ Common Size Analysis ก็คือการนำโครงสร้างทางการเงินของบริษัทไปเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่มีธุรกิจใกล้เคียงกัน ซึ่งบางทีมันอาจทำให้เรามองเห็นว่าโครงสร้างการเงินที่แปลกไปจากธุรกิจทั่วๆ ไป อาจเป็นเรื่องปกติในธุรกิจบางแบบก็เป็นได้ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ เราจะเห็นได้ว่า Common Size Analysis เป็นแนวทางการวิเคราะห์ ที่มีประโยชน์มากๆ ในการมองภาพรวมทางการเงินของบริษัท เพราะงบดุลของบริษัทที่มีตัวเลขจำนวนมากมาย การมองลงไปในแต่ละรายละเอียดจะทำให้เรางงและไม่เห็นภาพใหญ่ เครื่องมือที่จะทำให้เราเห็นภาพใหญ่ได้ตลอดไม่ว่างบดุลจะ              มีรายละเอียดแค่ไหนก็คือการทำ Common Size นั่นเอง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราก็ต้องไม่ลืมเสมอคือการทำ Common Size Analysis แม้ว่าจะเป็นแนวทางวิเคราะห์ที่มีประโยชน์มาก แต่มันก็เป็นแนวทางวิเคราะห์ในแบบหนึ่งในหลายๆ แบบที่นิยมใช้เท่านั้น หากต้องการจะพิจารณาความเป็นไปของธุรกิจผ่านงบการเงิน เราควรจะให้การวิเคราะห์แบบอื่นๆ ที่นิยมกันประกอบด้วย นอกจากนี้การลงไปดูในส่วนหมายเหตุงบการเงินก็ยังจะทำให้เราเห็นรายละเอียดที่ลึกลงไปในรายละเอียดที่เราอาจจะพลาดไปถ้าเรามองแค่ตัวเลขใหญ่ๆ ในงบการเงินด้วย

เรียนรู้แนวคิดธุรกิจ SME และหลักการในการวิเคราะห์งบการเงินได้ที่ Facebook Fanpage Krungthai SME และ Website https://sme.ktb.co.th/sme/ มีเนื้อหาดีๆ ทั้งบทความ วิดีโอ และอินโฟกราฟิกรอคุณอยู่