“การวางแผนภาษี” คือการวางแผนว่าจะทำยังไงให้เราเสียภาษีน้อยที่สุดโดยที่เรายังทำตามกฎหมายอย่างถูกต้องทุกประการ
แล้วมันทำยังไงล่ะ?
ตรงนี้เราก็คงต้องมาแยกก่อนว่าการจ่ายภาษีของธุรกิจประเภทบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล มีลักษณะต่างกัน และก็ต้องการวางแผนภาษีที่ต่างกัน
สำหรับบุคคลธรรมดา ถ้าจะพูดง่าย ๆ “การวางแผนภาษี” นั้นก็หมายถึงการวางแผนว่าจะทำยังไงให้ได้ค่าลดหย่อนมากที่สุด ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ สิทธิในการใช้ค่าลดหย่อนหมวดหมู่ต่างๆ ของเราเท่านั้น ซึ่งเพราะสรรพากรจะมีสูตรในการหัก “ค่าใช้จ่าย” ที่ตายตัวอยู่ ดังนั้นมันไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่ง ของ “แผน” ที่เราต้องวาง
แล้วเราวางแผนภาษีของธุรกิจประเภทบุคคลธรรมดา ได้อย่างไร?
จริงๆ เราต้องเข้าใจก่อนว่า ถ้าเราไม่ได้จดเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เราต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งนั้น เพียงแต่หลักการหัก “ค่าใช้จ่าย” ก็จะต่างกัน ซึ่งทางสรรพากรจะมีแนวโน้มจะประเมินค่าใช้จ่ายเราแบบเหมาที่ 30-60% ของรายได้ แล้วแต่ธุรกิจ
ซึ่งพอเราเอาเงินได้ของเรามาหักค่าใช้จ่ายเสร็จ ด่านต่อไปของเราก็คือค่าลดหย่อน
ถ้าจะให้แยกง่ายๆ ก็อาจแยกได้เป็นค่าลดหย่อนเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มเกี่ยวกับครอบครัว กลุ่มเกี่ยวกับการประกันและการลงทุน กลุ่มเกี่ยวกับการบริจาค และกลุ่มพิเศษ
กลุ่มแรกเกี่ยวกับครอบครัว
ถ้าจะอธิบายกว้าง ๆ คือค่าลดหย่อนส่วนตัว และค่าลดหย่อนเกี่ยวกับคนในครอบครัวที่ไม่มีรายได้ (ตั้งแต่ลูกของเรา คู่ชีวิตของเรา ไปถึงพ่อแม่) ซึ่งจริงๆ ตรงนี้ค่อนข้างจะตายตัวมาก ถ้าสมาชิกครอบครัวเราไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เราจะได้ลดหย่อน เว้นในส่วนของพ่อแม่ในกรณีที่ เรามีพี่น้อง เพราะตามหลักภาษีจะมีลูกที่เป็นผู้ดูแลพ่อแม่ได้คนเดียวเท่านั้น และลูกคนนั้นจะได้สิทธิ์ในการลดหย่อน ในขณะที่ลูกคนอื่นจะไม่ได้ลดหย่อน ดังนั้นถ้าใครมีพี่น้อง ตรงนี้ก็ต้องตกลงกันดีๆ
กลุ่มที่สองคือกลุ่มเกี่ยวกับการประกันและการลงทุน
ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราต้อง “วางแผน” มากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มที่เราจะใช้สิทธิ์ไม่ได้เลยถ้าเราไม่เอาเงินไปซื้อประกันหรือเอาไปลงทุนในกองทุนต่าง ๆ การลดหย่อนกลุ่มนี้ต้องใช้ความรู้ทางการเงินและการลงทุนพอสมควร เพราะเราไม่ได้รู้แค่เพดานการลดหย่อนแล้วลงทุนไปเต็มที่แล้วจะพอ นอกจากนี้ เราก็ยังต้องมีความเข้าใจพื้นฐานว่านี่เป็นการลงทุนระยะกลางถึงยาว เช่น LTF เราจะเอาเงินลงทุนออกมาไม่ได้เลยก่อน 5 ปีของการลงทุน ส่วน RMF เราจะเอาเงินออกมาไม่ได้จนเราเกษียณเลย ดังนั้นเราต้องประเมินดีๆ ว่าเราจะลงทุนตรงส่วนนี้เพื่อลดหย่อนภาษีหรือไม่
กลุ่มที่สามคือกลุ่มเกี่ยวกับการบริจาค
การวางแผนคือ เราก็ต้องไปเช็กว่าองค์กรที่เราจะบริจาคเงินนั้น สามารถเอาเงินบริจาคมาลดหย่อนภาษีได้หรือไม่? ถ้าได้ เราก็ควรจะให้มีการจัดการเอกสารตั้งแต่การบริจาคเลย
ทั้งนี้ทางธนาคารกรุงไทยก็ได้อำนวยความสะดวก ด้วยการบริจาคผ่าน App Krungthai NEXT โดยหลังจากบริจาคจะมีใบอนุโมทนาบัตรส่งให้ทางอีเมล์ทันที รวมถึงส่งข้อมูลการบริจาคให้กรมสรรพากรสำหรับการลดหย่อนภาษี ซึ่งสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ktb.co.th/th/content/personal/krungthai-next/e-donation
กลุ่มที่สี่คือกลุ่มพิเศษ
ซึ่งก็คือการลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามปกติ แต่เป็นไปตามนโยบายระยะสั้นของรัฐบาล เช่น การลดหย่อนช่วยน้ำท่วม การลดหย่อนค่าบ้าน ค่ารถ การลดหย่อนเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งของพวกนี้จะมีรายละเอียดมาก และเราต้องตามรายละเอียดไปแบบปีต่อปี
อย่างไรก็ดีมันก็ไม่ใช่ว่าเราเห็นว่ามีการลดหย่อนพิเศษมาแล้วเราจะใช้ให้คุ้มเลย เพราะการลดหย่อนนี้จะคุ้มหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับฐานภาษีของเราด้วย ดังนั้นต้องศึกษาดีๆ ก่อนจะใช้เพื่อให้ได้สิทธิ์การลดหย่อนนั้น
นี่แหละครับประเด็นหลัก ๆ เกี่ยวกับการวางแผนภาษีของบุคคลธรรมดา
ต่อมา แล้วถ้าเป็นนิติบุคคลล่ะ จะวางแผนภาษีกันยังไง?
ความแตกต่างหลัก ๆ ของบุคคลธรรมดากับนิติบุคคลในการวางแผนภาษีก็คือ ในขณะที่บุคคลธรรมดา สิ่งที่ต้องเน้นคือการหา “ค่าลดหย่อน” มาให้ได้มากที่สุดเพื่อลดภาษี แต่สำหรับนิติบุคคลสิ่งที่สามารถลดภาษีคือ “ค่าใช้จ่าย”
หรือพูดอีกแบบก็คือ โจทย์สำหรับนิติบุคคลคือ เราจะลงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของบริษัทลงไปในบัญชี ให้ได้มากที่สุดตามที่กฎหมายเอื้ออำนวย เพราะนั่นหมายถึง “ผลกำไร” ก็จะลดลงหลังที่ถูกนำไปคิดภาษี
อันนี้เป็นสิ่งที่พูดในทางหลักการมันพูดง่าย แต่ในทางปฏิบัตินั้นซับซ้อนมาก และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทระดับนิติบุคคลต้องมีนักบัญชีเก่ง ๆ และฝ่ายบัญชีดี ๆ เพราะบุคคลากรกลุ่มนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท โดยการวางแผนภาษีให้กับบริษัท ซึ่งวิธีการก็คือการคำนวณ และประเมินค่าใช้จ่ายในแต่ละปี คำนวณผลกำไร และไล่หาว่าค่าใช้จ่ายส่วนใดจะสามารถนำไปหักภาษีได้ นอกจากนี้ ทางฝ่ายบัญชีก็ยังมีหน้าที่ทำความเข้าใจและหาค่าลดหย่อนต่างๆ มาหักเพิ่มเติมให้อีกด้วย ซึ่งประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการวางแผนภาษีนิติบุคคลอาจแบ่งได้ตามนี้
จะซื้อหรือเช่าดี?
การซื้อหรือเช่า เป็นปัญหาคลาสสิคทางภาษีนิติบุคคล เช่น ถ้าทางบริษัทก็ต้องการรถยนต์มาใช้งาน บริษัทควรพิจารณาว่าการซื้อมาเลยในนามของบริษัท หรือการทำสัญญาเช่า วิธีไหนจะเหมาะกว่าในเชิงผลประโยชน์ทางภาษี ซึ่งในกรณีของรถถ้าบริษัทซื้อไปเลยมันจะหักค่าเสื่อมสภาพเป็นค่าใช้จ่ายได้ 5 ปี (ปีละ 20%) ส่วนถ้าเช่า ค่าเช่าก็จะถูกนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ทั้งก้อนในปีที่บริษัทเช่ารถ เป็นต้น ซึ่งเราก็ต้องคุยกับฝ่ายบัญชีดีๆ ว่าแบบไหนจะเป็นประโยชน์กับบริษัทกว่าในทางภาษี
ใช้จ่ายให้ถูกหมวดหมู่ เสียภาษีน้อยกว่าเดิม
โดยทั่วไปแล้วค่าใช้จ่ายของนิติบุคคลจะสามารถนำไปหักภาษีได้ตามจริง อย่างไรก็ดี มันก็มีเทคนิคให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายแบบที่หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่าปกติ ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา จะสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ถึง 3 เท่า หรือพูดง่ายๆ ก็คือรัฐทำการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาทางอ้อม โดยการทำให้บริษัที่ลงงบประมาณไปตรงส่วนนี้ จะสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่าปกติตอนเสียภาษีนั่นเอง
ทำบริษัทให้ตรงเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนของรัฐ
อาจไม่ต้องเสียภาษีเลย นี่เป็นสิ่งที่หลายคนไม่รู้ แต่จริงๆ นิติบุคคลบางประเภท ไม่จำเป็นอย่างเสียภาษีนะครับ แม้ว่านี่จะเป็นเงื่อนไขชั่วคราวตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนของรัฐ แต่ถ้าบริษัทของเราเข้าข่ายในหลายเงื่อนไข การที่เราจะทำให้บริษัทเราเข้าเงื่อนไขให้ครบเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็จะเป็นประโยชน์กับทางบริษัทสุดๆ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Startup ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐกำหนด และเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดครบ (เช่น ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ปีละไม่เกิน 30 ล้านบาท และได้รับหนังสือรับรองจาก สวทช.) ก็จะไม่ต้องเสียภาษีเป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น ซึ่งถ้าบริษัทเราอยู่ในอุตสาหกรรมที่รัฐกำหนดมา มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แล้วรายได้ประเมินแล้วไม่เกิน 10 ล้านบาท เราก็สามารถจะไปขอหนังสือรับรองจากทาง สวทช. เพื่อให้เข้าข่าย Startup และไม่ต้องเสียภาษีได้เป็นเวลาถึง 5 ปีเลยทีเดียว
นี่แหละครับ พื้นฐานของการวางแผนภาษีนิติบุคคลซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็ต้องทำไปพร้อมๆ กับการอัปเดตด้านกฎหมายและนโยบายภาษีตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในภาพใหญ่ของการเปลี่ยนอัตราภาษีนิติบุคคลทั้งหมด หรือการออกนโยบายใหม่ในการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลบางประเภท
ดังนั้นความยากของการวางแผนภาษีของบริษัทมันจึงไม่ใช่แค่การหารายจ่ายที่เกิดขึ้นแล้วมาหักค่าใช้จ่ายในบัญชีให้ได้มากที่สุด แต่มันหมายถึงการวางแผนการใช้จ่ายเงินของบริษัทให้เกิดประโยชน์ทางภาษีที่สุดแต่แรกด้วย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ต้องการการพูดคุยและร่วมมือกันทั้งบริษัท พูดง่าย ๆ คือไม่ใช่แค่เรื่องของฝ่ายบัญชี แต่เป็นเรื่องที่ผู้บริหาร ต้องมาคุยกันและหาข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับบริษัท
สุดท้ายเราก็ต้องดูว่าการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ธุรกิจควรเป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ทำเพื่อหลบเลี่ยงภาษี ไม่เช่นนั้น การประหยัดภาษีอาจจะไม่คุ้มค่ากับการถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลัง
หลักๆ ก็เพียงเท่านี้แหละครับ ประเด็นที่จะต้องขบคิดของการวางแผนภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ซึ่งว่ากันตรง ๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ เต็มไปด้วยรายละเอียด อย่างไรก็ดี ถ้าเรามีความชัดเจน ในเป้าหมายว่าเราต้องการอะไร แล้วค่อยๆ ทำงานย้อนไปจากตรงนั้น มันก็จะเริ่มมีเป้าหมาย และขั้นตอนที่ชัดเจนให้เราจัดการจนได้ในที่สุดครับ
ติดตามความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจ SMEs อื่น ๆ และข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจ SMEs ได้ที่ Facebook Fanpage Krungthai SME หรือ ทาง Website https://sme.ktb.co.th/