หน้าหลัก
ผลิตภัณฑ์และบริการ
โปรโมชั่น
ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ
SME Focus Magazine
งานสัมมนา
โครงการอบรม
คำนวณสินเชื่อเบื้องต้น
ค้นหาจุดบริการ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

FOLLOW US Krungthai SME​


สนใจรับวิจัยธุรกิจและความรู้กรุงไทย SME ทางอีเมล์
Krungthai SME

ธุรกิจประเภทนิติบุคคล ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง?

 

เรื่องภาษีเป็นเรื่องซับซ้อน บางทีเป็นแค่พนักงานกินเงินเดือนแล้วมีรายได้เสริมนิดหน่อยเวลาจะต้องยื่นภาษีนี่ก็เป็นงานที่หนักแล้ว ถ้าเป็นนิติบุคคลก็แทบไม่ต้องคิดเลยว่ามันจะยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก

...แต่เอาจริง ๆ มันไม่ได้ซับซ้อนขนาดนั้นนะครับ เพราะสำหรับธุรกิจเอง แม้ว่าในทางปฏิบัติอาจต้องเจอกับตัวเลขชวนงงเป็นสิบๆ หรือเป็นร้อยๆ รายการ แต่ถ้าแบ่งตามประเภท มันมีภาษีแค่ไม่เกิน 5 ประเภทเท่านั้นที่ธุรกิจแบบนิติบุคคลจะต้องประสบ ส่วนจะมีอะไรกันบ้าง เรามาดูกันครับ

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีประเภทแรกคือภาษีแบบเดียวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลย เพียงแต่มันเป็นภาษีของบริษัท ซึ่งความต่างกันของภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็คือ การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นจะเก็บภาษีจาก “ผลกำไร” ที่สามารถหักต้นทุนทางธุรกิจมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ตามจริง ซึ่งจะทำแบบนี้ได้ บริษัทก็ต้องมีการทำบัญชีชัดเจนว่าต้นทุนทางธุรกิจในปีนั้นเท่าไร รายได้เท่าไร นำมาคำนวณแล้วเป็นผลกำไรเท่าไร ซึ่งส่วนของกำไรเท่านั้นที่จะคิดเป็น “เงินได้” ที่ต้องเสียภาษี

การทำแบบนี้มีข้อดีก็คือ บริษัทสามารถเสียภาษีได้ตามผลกำไรจริง ๆ ไม่ใช่เสียจากรายได้ที่หักลบค่าลดหย่อนต่าง ๆ แบบเป็นค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่กำหนดมาอย่างตายตัว แบบการเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา พูดง่ายๆ คือมันจะทำให้ธุรกิจเสียภาษีน้อยลงกว่าการที่เจ้าของกิจการเสียภาษีในนาม บุคคลธรรมดา อย่างไรก็ดีจะเสียภาษีแบบนี้ได้ก็อย่างที่บอกครับ ว่าบริษัทต้องทำบัญชี และบริษัทก็ต้องว่าจ้างผู้ตรวจสอบบัญชีมารับรองความถูกต้องของบัญชีก่อนจะไปยื่นภาษีด้วย

ตรงนี้อาจสงสัยว่าการถ้าเราทำธุรกิจ เราต้องทำอย่างไรที่จะมีสิทธิ์ในการเสียภาษีเงินได้แบบสามารถ หักค่าใช้จ่ายตามจริงได้ แบบภาษีนิติบุคคล คำตอบคือ เราต้องไปจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือ จดทะเบียนเป็นบริษัท ก่อนครับ ถ้าไม่จด ภาษีเงินได้ของเราก็จะต้องเสียแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

การที่บริษัททำธุรกิจ บางครั้งก็ต้องมีการจ้างบุคคลภายนอกซึ่งตามกฎหมายการทำแบบนี้ บริษัทมีหน้าที่ต้องเสียภาษีแบบ “หัก ณ ที่จ่าย” แล้วเอาเงินที่เก็บไว้มายื่นให้สรรพากรในปีภาษีนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทจ้างช่างรับเหมาทำงาน เวลาจะจ่ายเงินเขา บริษัทก็มีหน้าที่จะต้องหักค่าจ้างของเขาส่วนหนึ่งที่เรียกว่า ภาษีแบบหัก ณ ที่จ่าย และยื่นให้กับสรรพากร

ที่หักแบบนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการการันตีว่าทุก ๆ การจ้างงานบุคคลภายนอกโดยนิติบุคคลจะทำให้รัฐได้ภาษีที่มาจากเงินได้ของบุคคลรับจ้างเหล่านั้นมาอยู่ในมือก่อน พร้อมกับรับรู้รายได้บางส่วนของบุคคลเหล่านั้น ซึ่งภาษีส่วนนั้นก็จะนับเป็นภาษีที่ถือว่าบุคคลเหล่านั้นได้จ่ายเป็นภาษีเงินได้ของตัวเองไปแล้วล่วงหน้า ส่วนภาษีเหล่านี้จะต้องจ่ายเพิ่ม หรือจะได้ภาษีคืน ก็ขึ้นอยู่กับรายได้ของบุคคลเหล่านั้นว่าต้องเสียภาษีเท่าใดในปีนั้น ๆ ถ้าเขาถูก “หัก ณ ที่จ่าย” มากกว่าภาษีที่เขาต้องเสียในปีภาษีนั้น ๆ เขาก็มีสิทธิ์ยื่นขอภาษีคืนได้ เป็นต้น

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย เพราะเรา “จ่าย” รวมกับราคาที่เราซื้อสินค้าและบริการจากภาคธุรกิจ ซึ่งในทางทฤษฎี ธุรกิจทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลธรรมดาไปจนถึงจดทะเบียนบริษัท ถ้ามีรายได้ต่อปีถึง 1.8 ล้านบาท ก็ล้วนมีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น

พูดง่าย ๆ ถ้าเรามีรายได้เยอะ รัฐบังคับให้ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแบบไม่มีเงื่อนไข และเนื่องจากเรา ต้องจ่าย เราจึงต้องไปชาร์จจากผู้ที่มาซื้อสินค้าและบริการเราอีกที นี่เป็นสาเหตุที่ธุรกิจ จำนวนมากทำการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและบริการที่เราซื้อเสมอ อย่างไรก็ดี

สำหรับธุรกิจรายเล็ก ก็ต้องไม่ลืมว่าพอรายได้เราถึง 1.8 ล้านบาทเมื่อไร ทางสรรพากรก็จะเก็บภาษีตรงนี้จากเราทันที เราก็ต้องคิดด้วยว่าในปีไหนธุรกิจเราจะใหญ่ขนาดรายได้ 1.8 ล้านบาท และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะนั่นหมายถึงเราอาจต้องเปลี่ยนราคาสินค้า และบริการเราเลย เพราะเรามีต้นทุนทางภาษีมากขึ้น จากสินค้าทุกหน่วยที่เราขายออกไป และถ้าเราประเมินว่าเราจะรายได้ถึง 1.8 ล้านบาทในปีภาษีใด เราก็ควรจะไปจดภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีแบบต่อไปก็ตามชื่อเลยครับ คือมันจะมีเฉพาะตามธุรกิจที่กฎหมายกำหนด คือจะต้องเก็บภาษีแบบเฉพาะกิจ นอกเหนือจากทุกแบบที่ว่ามา ธุรกิจพวกที่จะต้องโดนภาษีธุรกิจเฉพาะก็อย่างเช่น ธนาคารพาณิชย์ โรงรับจำนำ ธุรกิจค้าขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ตรงนี้เราต้องเข้าใจก่อนว่าภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลก็ต้องเสียนะครับ ไม่ได้จำกัดแต่นิติบุคคล ซึ่งรายละเอียดของภาษีเหล่านี้ก็จะไม่ได้อยู่ในกฎหมายภาษีหลักอย่างประมวลรัษฎากร แต่มันจะพ่วงจะอยู่ในกฎหมายเฉพาะที่ใช้กำกับดูแลธุรกิจแต่ละประเภทโดยเฉพาะ ซึ่งถ้าเราทำธุรกิจเข้าข่ายธุรกิจเฉพาะเหล่านี้ เราก็ต้องศึกษากฎหมายเหล่านี้ให้เข้าใจ เช่นถ้าเราจะประกอบกิจการโรงรับจำนำ เราก็ต้องตรวจสอบเงื่อนไขภาษีเฉพาะของกิจการเราในกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำเป็นต้น

อากรแสตมป์

อากรแสตมป์ถ้าจะพูดง่าย ๆ ก็คือ มันเป็นภาษีที่รัฐจะเก็บเมื่อธุรกิจทำสัญญาบางชนิดครับ ธุรกิจก็ต้องเช็คกับฝ่ายกฎหมายดี ๆ ว่าการทำสัญญาอะไรจะเสียอากรแสตมป์บ้าง เพราะไม่ใช่การทำสัญญาทุกชนิดที่จะต้องเสียอากรแสตมป์ ตัวอย่างของอากรแสตมป์ที่เราต้องเสียให้รัฐก็เช่น การทำสัญญาเช่าที่ดิน การเช่าซื้อทรัพย์สิน การจ้างทำของ การทำสัญญากู้ยืมเงิน เป็นต้น

ทั้งนี้การเก็บอากรแสตมป์นั้นก็มีความแตกต่างกันไปในอากรแต่ละประเภท บางประเภทจะเก็บตายตัวต่อการออกเอกสาร 1 ฉบับ เช่นการออกใบมอบอำนาจ หรือใบรับของ แต่บางประเภทก็จะคิดอากรแสตมป์เป็นอัตราส่วนของมูลค่าธุรกรรม เช่น การเช่าที่ดิน หรือการโอนใบหุ้น เป็นต้น นอกจากนี้เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่าอากรแสตมป์ในแต่ละชนิดนั้นมีการกำหนดอย่างต่างกันไปว่าฝ่ายใดของคู่สัญญานั้นจะต้องเป็นผู้จ่ายภาษี ตรงส่วนนี้ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เราสามารถไปดูได้ในประมวลรัษฎากร

เท่านี้เองครับภาษีที่นิติบุคคลต้องจ่าย จะเห็นได้ว่าในทางหลักการมันไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย แม้ว่าในทางปฏิบัติมันจะงงอยู่บ้าง ซึ่งถ้าเป็นภาคธุรกิจที่มีการจัดการเอกสารเป็นอย่างดี มีการทำบัญชีอย่างดี ของพวกนี้จะแทบไม่เป็นปัญหาเลยครับ และเจ้าของธุรกิจก็จะต้องอัปเดตความรู้เรื่องภาษีตลอดเวลา เพราะเงื่อนไขภาษีต่างๆ ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพื่อความถูกต้องตามกฎหมายของกิจการเรา

ติดตามความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจ SMEs อื่นๆ และข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจ SMEs ได้ที่ Facebook Fanpage Krungthai SME หรือ ทาง Website https://sme.ktb.co.th/