FOLLOW US Krungthai SME
Subscribe
Unsubscribe
เราจะส่งข้อมูลวิจัยและความรู้ธุรกิจให้กับคุณตามอีเมล์ที่แจ้ง
ในโลกของ E-Commerce ยุคปัจจุบัน เราไม่จำเป็นต้องขายของแค่ในพื้นที่ใกล้ ๆ แล้ว เราสามารถขายของในพื้นที่ไกล ๆ แบบข้ามจังหวัดก็ได้ แต่จริง ๆ แล้วตลาดเราไม่ได้อยู่แค่ในประเทศเท่านั้น ในทางทฤษฎีเราขายของได้ทั้งโลก เครือข่ายส่งสินค้ามันไปถึงครับ ส่วนอินเทอร์เน็ตนี่ก็ยิ่งไม่ต้องพูด ไปถึงอยู่แล้ว ดังนั้นเราสามารถทำตลาดได้ทั้งโลก ซึ่งพอพูดถึงตลาดต่างประเทศ ก็คงไม่ต้องคิดมากมายว่าตลาดที่ใหญ่และน่าสนใจสุด ๆ ของบ้านเราก็คงหนีไม่พ้นตลาดจีน ที่ห่างบ้านเราไปนิดเดียว แต่ตลาดใหญ่โตสุด ๆ ได้ยินแบบนี้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลายคนที่มีสินค้าที่ผลิตในไทยก็คงอยากจะไปบุกตลาดจีนกันไม่น้อย แต่นั่นก็ไม่ใช่ไม่มีปัญหา เพราะจีนมีพฤติกรรมที่ใช้อินเทอร์เน็ตต่างจากที่อื่น ๆ พอสมควร ประการแรกสุดเลย จะค้าขายกับคนจีน สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในยุคนี้เลยคือบัญชีระบบกระเป๋าเงินออนไลน์แบบที่คนจีนใช้ พูดง่าย ๆ คือต้องมีบัญชี AliPay หรือ WeChat Pay ถ้าไม่มี บอกเลยว่าค้าขายกับคนจีนยากครับ เพราะคนจีนแทบจะเลิกใช้เงินสดแล้ว และบริการโอนเงินระหว่างประเทศแบบอื่น ๆ แบบ PayPal ก็ไม่นิยมใช้กัน ซึ่งจริง ๆ นี่ก็ไม่ใช่ปัญหาเท่าไร เพราะทุกวันนี้ในเมืองไทยมีเอเจนซี่หลายเจ้าที่จะช่วยให้เราเปิดบัญชีเหล่านี้และรับเงินจากคนจีนได้ ประการที่สอง คนจีนไม่ได้นิยมซื้อของบนแพลตฟอร์มที่เราคุ้น ๆ กัน ถ้าเป็นบ้านเรา จะขายของแบบ E-Commerce เราคงจะหลีกเลี่ยงแพลตฟอร์มแบบ Lazada หรือ Shopee ไม่ได้ ซึ่งในทางทฤษฎี เราลงขายสินค้าบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ คนจีนก็ซื้อได้ แต่นี่ไม่ใช่แพลตฟอร์มที่คนจีนใช้กัน ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจแบบ B2B เราต้องการขายของให้คนจีน ยังไงเราก็ต้องไปอยู่บน Alibaba ส่วนถ้าเป็นแบบ B2C เราต้องไม่พลาดทั้ง Tmall ที่เป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 และ JD ที่เป็นแพลตฟอร์มอันดับ 2 ทีนี้บัญชีรับเงินพร้อมแล้ว หน้าร้านออนไลน์ก็พร้อมแล้ว เราขายคนจีนได้แล้วแน่ ๆ จากตรงนี้ แต่ปัญหาต่อไปคือเราจะทำการตลาดยังไงให้คนจีนรู้จักสินค้าเรา ถ้าเป็นธุรกิจแบบ B2C จะทำการตลาดออนไลน์ ส่วนที่ต้องมุ่งเน้นคือต้องเข้าถึงคนจีนผ่าน Social Media ซึ่งจีนไม่เหมือนประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ Social Media ฮิตสุดคือ Facebook แต่ถ้าเป็นของจีน เราต้องเข้าถึงผู้คนผ่าน WeChat และ Weibo ซึ่งรวมกันน่าจะเรียกได้ว่าเท่ากับ Facebook ของจีน คิดง่าย ๆ คือ ถ้าทุกวันนี้ เราเจอร้านอะไร แล้วเราจะซื้อของ บางทีเรากจะเช็กบน Facebook ก่อนว่ามีเพจร้านไหม คนจีนก็เช่นกัน แต่เขาไม่เช็กบน Facebook เขาเช็กบน WeChat และ Weibo ดังนั้นเราก็ต้องมีเพจของร้านเราบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ และทำตลาดผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ (ด้วยเทคนิคที่เอาจริง ๆ ก็ไม่ได้ต่างจากเทคนิคที่ใช้กันบน Facebook เท่าไร) ส่วนถ้าเป็นธุรกิจแบบ B2B หรือเราต้องการทำการค้ากับภาคธุรกิจของเมืองจีน สิ่งที่ต้องเน้นกว่า Social Media ก็คือเว็บไซต์ของเรา เพราะภาคธุรกิจมีแนวโน้มจะค้นหาสินค้าผ่าน Search Engine มากกว่าผู้บริโภคทั่ว ๆ ไป แม้ว่าคนจีนก็ไม่ต่างจากคนชาติอื่น ๆ ในมิตินี้ แต่เราไม่สามารถใช้เว็บไซต์มาตรฐานภาษาอังกฤษของเราได้ง่าย ๆ เพราะอย่างน้อย ๆ เราก็ควรจะมีเว็บไซต์ในภาษาจีน ที่อาจมีคอนเทนต์เฉพาะสำหรับคนจีน เช่น วิดีโอ Testimonial จากลูกค้าตามสมัยนิยม แต่ลูกค้าเป็นคนจีน หรืออย่างน้อย ๆ ถ้าใช้วิดีโอเวอร์ชั่นเดียวกับเว็บไซต์ภาษาอื่น เราก็ต้องมี Subtitle ภาษาจีนไว้เพื่อสื่อสารกับลูกค้าชาวจีน แต่เท่านั้นก็ยังไม่จบ เพราะหัวใจของการทำตลาดของธุรกิจ B2B คือการทำ SEO ของเว็บไซต์หรือทำให้เว็บไซต์ปรากฏบนผลค้นหาแรก ๆ ของ Search Engine ตรงนี้อาจเป็นสิ่งที่ซับซ้อนเลย เพราะถึงเราจะทำ SEO ของเว็บไซต์เราได้ในระดับพีค ๆ บน Google ไปเรียบร้อยแล้ว แต่นั่นไม่มีประโยชน์อะไรเลยสำหรับตลาดจีน เพราะ Google นั้นถูกบล็อกอย่างสิ้นเชิงในโลกอินเทอร์เน็ตจีนมานานแล้ว ...และ Search Engine อันดับ 1 ของจีนก็คือ Baidu พูดง่าย ๆ คือเราต้องทำ SEO ใหม่จากศูนย์เลยกับตลาดจีน และต้องทำ SEO เพื่อให้ผลในการค้นหาของเราขึ้นหน้าแรก ๆ เมื่อคนจีนค้นหาบน Baidu นี่แหละครับพื้นฐานของการไปบุกตลาดเมืองจีน ซึ่งเราก็จะเห็นได้ว่า มันยุ่งวุ่นวายไปหมดเลย คือเรียกได้ว่าต้องเปิดใหม่ทุกอย่าง ตั้งแต่บัญชีรับเงิน บัญชี Social Media บัญชี E-Commerce ไล่มาจนถึงต้องทำเว็บไซต์ใหม่เป็นภาษาจีน และทำ SEO ใหม่ ให้เว็บเราขึ้นบน Search Engine ที่คนจีนใช้กัน จะเห็นได้ว่ามันยุ่งวุ่นวายรุงรังไปหมด และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่หลายคนยอมแพ้ก่อนจะเข้าไปบุกตลาดจีนสำเร็จ แม้ว่าตลาดจีนจะใหญ่โตมโหฬารและชวนเข้าไปลุยแค่ไหน และนี่เป็นเหตุให้สินค้าไทยจำนวนมากต้องเข้าไปจีนผ่าน “นายหน้า” หรือพ่อค้าคนกลางคนจีนด้วย ทั้ง ๆ ที่ในทางเทคนิค จีนไม่ได้ปิดกั้นอะไรให้เราขายของให้คนของเขาโดยตรงเลย พูดง่าย ๆ คือตราบใดที่คนไทยไม่ฝ่าฟัน ไม่ลุย ด้วยกระบวนการดังที่ว่ามาทั้งหมด ก็ไม่แปลกหรอกครับที่คนจีนจะได้ส่วนแบ่งกำไรไปอย่างมหาศาล ...แต่ถ้าเราแทรกตัวเข้าไปได้ ก็แน่นอนว่ามี “ส่วนแบ่งเค้ก” ก้อนโตรออยู่เช่นกัน ซึ่งถ้าต้องการจะเริ่ม จริง ๆ แล้ว ก้าวแรกที่ต้องทำอาจไม่ใช่เปิดบัญชี AliPay หรือ WeChat Pay ครับ แต่ต้องตั้งชื่อร้าน ตั้งชื่อแบรนด์ใหม่เป็นภาษาจีน เพราะคนจีนจะคุ้นเคยกับชื่อแบรนด์ภาษาจีนหมด ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ระดับอินเตอร์ใหญ่โตแค่ไหนก็ต้องมีชื่อจีน จะเป็นชื่อแบบเทียบความหมายหรือเทียบเสียงก็ว่าไป แต่ยังไงก็ต้องมีครับ แน่นอนว่านี่ก็อาจจะสร้างความปวดหัวสุด ๆ เพราะชื่อแบรนด์นี่มันไม่ใช่คิดกันเล่น ๆ แล้วออกเลย มันเป็นตัวตนและสัญลักษณ์สำคัญที่ต้องผ่านการกรองแล้วกรองอีกกว่าจะคิดออก และการไปลุยตลาดจีนนี่มันก็อาจต้องคิดชื่อแบรนด์ใหม่เลยให้เข้ากับตลาดจีนได้ ซึ่งก็เรียกได้ว่าเป็นงานช้างทีเดียว ...เป็นยังไงครับ อ่านมาทั้งหมด ความรู้สึกว่าตลาดจีนมันใหญ่ดี อยากไปบุกมั่งจังอาจจะหดหายกันลงไปเยอะอยู่ เพราะกว่าจะเข้าตลาดได้นี่ยุ่งสุด ๆ เรียกได้ว่าต้องทำใหม่ทุกอย่างยันชื่อแบรนด์ แต่ก็อย่างที่ว่ามาทั้งหมดครับ ส่วนแบ่งเค้กก้อนใหญ่รอเราอยู่ มันไม่ได้เข้าถึงง่าย ๆ ไม่งั้นคนก็คงแห่กันไปหมดแล้ว ดังนั้นมันก็ยังรออยู่เพื่อเป็นรางวัลสำหรับผู้ที่มีความพยายามฝ่าฟันความยากลำบากทั้งหมดครับ
ติดตามความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจ SMEs อื่น ๆ และข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจ SMEs ได้ที่ Facebook Fanpage Krungthai SME หรือ ทาง Website https://sme.ktb.co.th/