หน้าหลัก
ผลิตภัณฑ์และบริการ
โปรโมชั่น
ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ
SME Focus Magazine
งานสัมมนา
โครงการอบรม
คำนวณสินเชื่อเบื้องต้น
ค้นหาจุดบริการ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

FOLLOW US Krungthai SME​


สนใจรับวิจัยธุรกิจและความรู้กรุงไทย SME ทางอีเมล์
Krungthai SME

บริษัท ไทยซิลค์โปรดัคส์ จำกัด ส่งออกชาใบหม่อนไทยสู่ตลาดโลก มัดใจตลาด “แดนอาทิตย์อุทัย” ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ

 

บริษัท ไทยซิลค์โปรดัคส์  จำกัด
ส่งออกชาใบหม่อนไทยสู่ตลาดโลก มัดใจตลาด “แดนอาทิตย์อุทัย” ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ 

            หากนึกถึง ผลิตภัณฑ์อาหารและ “เครื่องดื่ม” ไม่ว่าจะเป็นในตลาดประเทศไทย หรือตลาดต่างประเทศระดับโลก ล้วนมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (Local) ที่รสชาติถูกปากผู้บริโภคอยู่แล้ว การจะแจ้งเกิดสินค้าจากตลาดต่างบ้านต่างเมือง จึงเป็นเรื่องยาก ยิ่งถ้าต้องโกอินเตอร์ไปบุกต่างประเทศ ก็เรียกว่าเป็นเรื่องหินพอสมควร ทว่า “บริษัท ไทยซิลค์โปรดัคส์ จำกัด” เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจของไทยที่ประสบความสำเร็จกับการผลักดันสินค้าไทย “ชาใบหม่อน” สร้างยอดขายเติบโตในประเทศญี่ปุ่นได้เป็นกอบเป็นกำ ภายใต้การนำทัพธุรกิจโดย “สมศักดิ์ ศรีบัวรอด”  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยซิลค์โปรดัคส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดธุรกิจชาใบหม่อน และยังทำหน้าที่ดูแลโรงงาน กระบวนการผลิตชาใบหม่อนอย่างใกล้ชิดและพิถีพิถันอีกด้วย

 ส่งออกชาใบหม่อนจากหลัก “สิบตัน” สู่หลัก “ร้อยตัน” เติบโตยาวนาน 22 ปี

            “ ช่วงแรกที่ส่งออกชาใบหม่อนไปประเทศญี่ปุ่นเริ่มต้นประมาณ 10 ตันต่อปี และค่อยๆ เพิ่มเป็น 50 ตันต่อปีภายในเวลา 5 ปี ปัจจุบันมียอดส่งออกมากถึง 100-150 ตันต่อปี ขณะที่ความต้องการบริโภคชาใบหม่อนในประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 500 ตันต่อปี

            สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อนไปญี่ปุ่นนั้น บริษัททำหน้าที่รับจ้างผลิต(Original Equipment Manufacturer :OEM) ให้กับลูกค้ารายใหญ่ด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในประเทศญี่ปุ่น โดยมีสินค้าหลากหลายรูปแบบ เช่น ใบชาอบแห้ง ชาชงแบบถุงหรือซอง(Teabag) สำหรับบริโภคชงดื่มทั่วไป แบบผงหยาบ และผงละเอียด ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มอย่างขนมคุกกี้ ไอศกรีม เจลลี่ ได้และชาใบหม่อนพร้อมดื่ม รวมถึงการนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพบรรจุในแคปซูล เป็นต้น  ซึ่งลูกค้าในญี่ปุ่น ก็จะนำชาใบหม่อนไปจัดจำหน่ายและกระจายให้กับบริษัทคู่ค้าของเขาเองอีกทอดหนึ่งเพื่อไปผลิตสินค้าต่างๆ  เช่น นำไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณแบรนด์ชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องดื่มต่างๆ มากมาย 

            จุดแข็งที่ทำให้บริษัทของเราค้าขายกับพันธมิตรในประเทศญี่ปุ่นมายาวนานถึง 22 ปี คงต้องบอกว่าเริ่มตั้งแต่ระบบจัดหาวัตถุดิบที่ดี เพราะการคัดสรรคุณภาพของวัตถุดิบเป็นสิ่งสำคัญมาก ใบหม่อนที่เราใช้คือพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ซึ่งเป็นใบที่มีคุณภาพ มีขนาดใหญ่ และบริษัทยังมีกฎเกณฑ์ในการรับซื้อใบหม่อนจากเกษตรกรที่ปลูกในพื้นที่รอบๆ จังหวัดนครราชสีมา ด้วย คือเราจะรับซื้อจากกลุ่มเกษตร 4-5 กลุ่มที่มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันประมาณ 1,000 ไร่ ในรัศมีไม่เกิน 150 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการขนส่งไม่เกิน     2-3 ชั่วโมง เพื่อคงความสดของใบหม่อนก่อนเข้ากระบวนการผลิตเป็นชา ซึ่งใบหม่อนที่มาถึงโรงงานจะเหี่ยวก่อนไม่ได้ หากเหี่ยวก่อนจะถือว่าคุณภาพไม่ดี ต้องคัดทิ้งเลย ดังนั้นเรื่องการคัดวัตถุดิบต้องเน้นเป็นพิเศษ  ซึ่งเหตุนี้เองทำให้เรามีศักยภาพและความสามารถในการผลิตชาใบหม่อนได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

            นอกจากนี้เราก็ใช้เครื่องจักรที่ได้มาตรฐานของญี่ปุ่น มีระบบการผลิตชาตามต้นตำรับของญี่ปุ่น ซึ่งการันตีได้เลยว่าขบวนการผลิตของเราจะยังคงรักษาคุณค่าทางอาหารของชาใบหม่อนได้ครบถ้วนแน่นอน  มีลูกค้าบอกว่าผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อนของเราราคาสูงกว่าของจากประเทศจีน แต่คุณภาพของเราดีกว่า ดังนั้นแม้แพงกว่าแต่เขาก็เลือกที่จะใช้สินค้าของเรา และทั้งหมดคือเหตุผลที่ทำให้ยอดขายจากการส่งออกของเราเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10%” 

วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดธุรกิจ

หากเรายังขายสินค้าแบบเดิม ตลาดก็อาจจะเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ทำให้เราต้องปรับตัวหาแนวทางอื่นๆ ที่ทำให้บริษัทมีการเจริญเติบโตมากขึ้นในอนาคต ดังนั้นเราจึงคิดต่อยอดสิ่งที่มี เนื่องจากบริษัทเป็นโรงงานสาวไหมเก่า จึงมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มเติม ด้วยการร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในการเปลี่ยนวัตถุดิบไหมใหม่ เดิมไหมจะชักใยออกมาเป็นรังกลมๆ เราก็ทำให้ไหมชักใยออกมาเป็นแผ่น เพื่อนำไปสกัดสารจากใยไหมนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น ทำเครื่องสำอาง รักษาอาการเจ็บป่วยบางประเภท เช่น ไหมไทยจะมีสารลูทีน(Lutein) มีประโยชน์ในการรักษาจอประสาทตาได้ ส่วนนี้เราได้ซื้อสิทธิบัตรจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)แล้ว และยังเข้าร่วมกับคณาจารย์จากสถาบันต่างๆ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยทุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) โดยเราจะคุยกับอาจารย์ นักวิจัย เพื่อดูว่า จากนี้ไปน่าจะพัฒนาใยไหมไปทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนผสมในอาหารของผู้สูงอายุ เครื่องสำอาง เป็นต้น  อย่างเครื่องสำอางเราก็มองหาโอกาสที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปขยายตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน กลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม(CLMV) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้เร็วๆนี้”

 

แนะ SMEs ควานหาพันธมิตรดี ช่วยให้มีชัยไปกว่าครึ่ง

            สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยที่ต้องการโกอินเตอร์ คุณต้องผลิตสินค้าดีและมีคุณภาพจริง หากเอาสินค้าตัวอย่างไปให้ลูกค้าดูแล้วสินค้านั้นๆ ต้องสามารถผลิตได้จริงด้วย ไม่ใช่เอาแบบหนึ่งไปให้ลูกค้าดูแต่กลับมาผลิตไม่ได้ตรงกับตัวอย่าง แบบนี้ก็ทำให้เสียเครดิต ไม่มีความน่าเชื่อถือ และต้องมีวัตถุดิบที่จะผลิตสินค้าได้อย่างเพียงพอกับคำสั่งซื้อ (Order) คือเราต้องประเมินสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดสินค้า หรือไม่มีของส่งให้ลูกค้า

นอกจากนี้การหาคู่ค้าในการทำธุรกิจก็สำคัญ ทำอย่างไรให้เจอคนที่ต้องการสินค้าของเราจริงๆ  ซึ่งส่วนหนึ่งเราสามารถทำได้โดยการไปออกงานแสดงสินค้า งานแฟร์ต่างๆ ถ้ามีลูกค้าระยะยาวจะดีมาก อย่างการที่เราทำธุรกิจกับญี่ปุ่นนี่ เราทำมา 22 ปีแล้ว แม้ตลาดจะมีคู่แข่งบ้าง แต่บริษัทญี่ปุ่นก็ยังซื้อสินค้าจากเราต่อเนื่อง ซึ่งปกติแล้วบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่เมื่อได้ทำการค้าด้วยกัน เขาจะไม่ค่อยเปลี่ยนคู่ค้านะ คือถ้าได้คบหากันแล้วก็จะคบกันยาวไปเลย ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ เรียกว่าทำมาค้าขายกันจนรู้ใจ เพราะเขาก็จะคิดว่าถ้าต้องไปเริ่มต้นค้าขายกับคนใหม่ๆ บริษัทใหม่ๆ ต้องเริ่มใหม่หมด ก็จะมีความยุ่งยากมาก  

การทำให้ลูกค้าอยู่กับเราไปนานๆจะต้องมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า(Customer Relationship Management : CRM) ดังนั้นเราก็จะมีการไปเยี่ยมเยียนลูกค้าสม่ำเสมอเป็นประจำ สำหรับผมเองก็ไปญี่ปุ่น ไปเยอรมันบ่อย เพื่อรับฟังความต้องการ ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ของลูกค้า หรือบางทีทางลูกค้าก็เป็นฝ่ายบินมาเยี่ยมเยียนเราด้วยเช่นกัน

การทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรก็ตาม ต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องหาทุกช่องทางในการสร้างโอกาส โดยเฉพาะจุดไหนที่หน่วยงานราชการให้ความช่วยเหลือได้ เราต้องเข้าไปพึ่งพา ปัจจุบันนี้การนำสินค้าออกไปทำตลาดต่างประเทศ ก็มีหลายหน่วยงานให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์  Thaitrade ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น  ซึ่งเมื่อทำธุรกิจเราต้องหูตากว้าง ต้องอัพเดทข้อมูล ข่าวสารต่างๆ เสมอ “

อัพเดทเมื่อ 12/10/2560