ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยพืชผลทางการเกษตร ทั้งผักและผลไม้นานาชนิดที่ผลิดอก ออกผลให้คนไทยได้บริโภคกันตลอดทั้งปี และด้วยข้อจำกัดในการเก็บรักษาทำให้พืชผลทางการเกษตรมีมากเกิน จนบริโภคหรือจัดจำหน่ายไม่ทัน เกิดความเสียหาย เหล่านี้ได้กลายเป็นข้อดีที่นักธุรกิจรุ่นใหม่อย่าง “วราภรณ์ วังวิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการบริษัท อินเตอร์ดริ๊งส์ จำกัด มองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจ เกิดแนวคิดแปรรูปผลไม้สดเป็นน้ำผลไม้บรรจุกระป๋องส่งออกต่างประเทศมานานกว่า 12 ปี
อินเตอร์ดริ๊งส์ เติบโตจากการรับจ้างผลิตควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์ในนาม “C-Light” และ “COCO PLUS”
วราภรณ์ วังวิวัฒน์ เล่าถึงจุดก่อเกิด “อินเตอร์ดริ๊งส์” ว่า “บริษัท อินเตอร์ดริ๊งส์ จำกัด เป็นบริษัทในเครือของบริษัท มโนห์ราอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิตข้าวเกรียบขายในเมืองไทย และส่งออกไปต่างประเทศ โดย อินเตอร์ดริ๊งส์ ดำเนินธุรกิจผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำผลไม้บรรจุกระป๋องส่งออกต่างประเทศเป็นหลัก
“แนวคิดในการทำธุรกิจส่งออกน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง มาจากการที่เราดูแลในส่วนงานด้านตลาดส่งออกให้บริษัท มโนห์ราอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้มีเครือข่ายกลุ่มลูกค้าต่างประเทศส่วนหนึ่งอยู่แล้ว ถือเป็นข้อได้เปรียบของเรา เพราะการผลิตสินค้าขึ้นมาสักอย่างไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะขายให้ใคร หรือหาลูกค้าจากที่ไหน ตรงจุดนี้สิที่ยาก แต่มโนห์ราอยู่ในตลาดมานานกว่า 54 ปี จึงรู้จักลูกค้าพอสมควร ดังนั้นเราแค่นำเสนอสินค้าที่ทำให้กับลูกค้าแต่ละประเทศที่เรามีพอร์ตอยู่เท่านั้นเอง
นอกจากนี้การที่ มโนห์รา เป็น snack ข้าวเกรียบ ซึ่งมีน้ำหนักเบา เราจึงอยากหาสินค้าที่ขายไปพร้อมกันได้ เพื่อเฉลี่ยน้ำหนัก รวมถึงเงินต้นทุนต่อหน่วยของค่าขนส่งในการส่งออก ความคิดเรื่องการทำน้ำผลไม้บรรจุกระป๋องจึงเกิดขึ้น การที่เราถนัดในไลน์อาหารอยู่แล้ว จึงถือเป็นการแตกไลน์ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารไปด้วยเลย อีกทั้งการขายผลไม้ที่เป็นวัตถุดิบสดๆ เมื่อรวมกับการขนส่งด้วยแล้วราคาค่อนข้างแพง เราคิดว่าการดื่มน้ำผลไม้จากกระป๋องน่าจะดีกว่า รสชาติอาจไม่เหมือนที่ดื่มจากผลสด ๆ แต่ในรูปแบบกระป๋องจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่าย ต้นทุน และการเก็บรักษา รวมถึงอายุของสินค้าที่สามารถอยู่ได้เป็นปี คุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้สามารถนำเสนอต่อลูกค้าได้ง่ายกว่า
สินค้าตัวแรกที่ทำคือ น้ำมะพร้าวผสมเนื้อมะพร้าวกับน้ำมะพร้าวธรรมดา ที่เลือกทำน้ำมะพร้าว เพราะโรงงานของเราอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งที่มีวัตถุดิบประเภทมะพร้าวเยอะมาก หลังจากนั้นก็เริ่มขยายไลน์ทำน้ำสับปะรด น้ำฝรั่ง น้ำลิ้นจี่ น้ำผลไม้รวม น้ำมะขาม น้ำส้ม โดยแตกไลน์ออกไปเรื่อยๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ เราคำนึงถึงแหล่งวัตถุดิบด้วย เพราะหากไล่มา สมุทรสาคร สมุทรสงคราม มีลิ้นจี่ ฝรั่ง ส่วนเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ก็มีสับปะรด ถือเป็นข้อดีและข้อได้เปรียบของเราในเรื่องของโลจิสติกส์ และวัตถุดิบคุณภาพที่นำมาผลิตในโรงงาน
ช่วงแรกๆ เราส่งออก 100% ทำเป็น OEM (Original Equipment Manufacturer) คือรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ ก่อน ประมาณ 4-5 ปี เพื่อให้โรงงานเป็นที่รู้จัก และลูกค้าเกิดความมั่นใจว่าเราเป็นผู้ผลิตตัวจริงที่อยู่ในเมืองไทย ขณะเดียวกันก็ทำแบรนด์ของตัวเองคู่ขนานกันไปด้วย ภายใต้ชื่อ “C-Light” และ “COCO PLUS” เหตุผลที่ต้องสร้างแบรนด์คู่ขนานไปกับการทำ OEM เพราะ ต้องสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัท ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง คนจะรับประทานหรือซื้อสินค้า แบรนด์ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่า ทุกครั้งที่หยิบแบรนด์นี้ขึ้นมา สินค้าจะมีคุณภาพ อร่อย และคุ้มกับเงินที่เขาเสีย เฉพาะแบรนด์ C-Light ตอนนี้มีหลายซีรี่ส์มาก หลักๆ เป็นน้ำผลไม้ และ Milk Drinks เช่น Melon Milk ,Almond Milk, Chocolate Milk, Banana, Rose Milk Drinks, Strawberry Milk Drinks เป็นต้น
ปัจจุบันบริษัทยังรับทำ OEM อยู่ และมีสินค้ามากกว่า 40 รายการ (SKUs) อาทิ น้ำมะพร้าว มีตั้งแต่ 20% ไปจนถึง100% ขึ้นอยู่กับลูกค้าที่มาจ้างผลิตว่าอยากได้น้ำอะไร มีงบเท่าไหร่ สินค้าของอินเตอร์ดริ๊งส์ส่งออกต่างประเทศประมาณ 95% อีก 5% คือการรับจ้างผลิตให้ลูกค้าในประเทศ
เจาะตลาดต่างประเทศในกลุ่มอเมริกา และ UAE ผ่านงานแสดงสินค้าระดับโลก
“การไปออกงานแสดงสินค้ากับหน่วยงานภาครัฐในต่างประเทศ ทำให้เรารู้ข้อมูลของกลุ่มลูกค้าที่จะนำสินค้าไปขายได้ก่อนว่าประเทศไหน กลุ่มไหนของแต่ละทวีป ที่มีกำลังซื้อในเรื่องของน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง เพื่อที่เราจะสามารถเลือกกลุ่มที่จะอยู่ได้ชัดเจนขึ้น สินค้าของเราจะอยู่ในกลุ่ม Beverage ลูกค้าที่เดินมางานแสดงสินค้า (Exhibition Show) เราก็จะได้แนะนำบริษัท อินเตอร์ดริ๊งส์ ให้ลูกค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมายว่า เราเป็นใคร ผลิตอะไร มีสินค้าอะไรมานำเสนอบ้าง อย่างเช่น กลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งมีกำลังซื้อและบริโภคน้ำผลไม้บรรจุกระป๋องในปริมาณมาก เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีของสดน้อย ภูมิอากาศร้อน การหาผลไม้สดมารับประทานจึงเป็นเรื่องยาก ราคาแพง และคุณภาพไม่ดีเหมือนบ้านเรา เราจึงนำเสนอ Process Food ด้วยบรรจุภัณฑ์สวยงามเรียบร้อย ลักษณะนี้จะง่ายในการเข้าถึงผู้บริโภค และราคาไม่แพงด้วย
ในการไปออกงานแสดงสินค้าที่ต่างประเทศ ต้องทำการบ้านพอสมควร ต้องมีการวางแผนและคุยกันในทีมก่อนว่า เราจะไปขายอะไร ขายเท่าไหร่ ขายอย่างไร ในทางกลับกันไม่ใช่แค่การขายอย่างเดียว ต้องเก็บข้อมูลกลับมาด้วยว่า พฤติกรรมผู้บริโภคของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร ตอนนี้เทรนด์ในต่างประเทศขายอะไร กินอะไรกัน และมีสินค้าอะไรใหม่ๆ ในตลาดบ้าง หรือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นอย่างไร สีสันสดใส สวยหรือไม่ เหล่านี่คือสิ่งที่เราต้องใส่ใจ ต้องเก็บข้อมูลต่างๆ แล้วนำกลับมาคุยกับทีมมาร์เก็ตติ้ง และ ทีม R&D(Research and development) ก่อน เพื่อหาข้อสรุปว่าซีรี่ส์แรกจะผลิตเครื่องดื่มอะไรออกไปขาย โดยหลักๆ บริษัทจะเน้นเรื่องการใช้พืชผลทางการเกษตรจากเกษตรกรที่ปลูกในเมืองไทย 100% เป็นอันดับแรก
ช่วงแรกเริ่มทำตลาดต่างประเทศ 2 กลุ่มคือสหรัฐอเมริกา และ ในกลุ่มของ GCC (Gulf Countries Cooperation) หรือกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ มี 6 ประเทศ ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในตะวันออกกลาง ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE), บาห์เรน, ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต ,กาตาร์ และโอมานโดยงานแรกไปกับกรมส่งเสริมการส่งออกเป็นงาน “Gulfood” มีลูกค้าในแต่ละประเทศมาดูงานเยอะมาก ถือเป็นตลาดแรกๆ ที่เราไปขายสินค้า สินค้าที่นำไปออกงานแสดงสินค้ามีน้ำมะพร้าว น้ำสัปปะรด น้ำฝรั่ง น้ำลิ้นจี่ เป็นต้น ซึ่งน้ำมะพร้าวได้รับการตอบรับที่ดีมาก
สิ่งสำคัญที่ต้องนำเสนอ คือ ทำไมเขาต้องซื้อของเรา ราคาดีมั้ย คุณภาพดีหรือเปล่า ระยะเวลาในการผลิตส่งสินค้าตรงเวลามั้ย ดีไซน์สวยมั้ย แล้วผ่านกฏระเบียบการนำเข้าของแต่ละประเทศหรือเปล่า เช่น จะขายแบรนด์ C-Light จะขายได้เลยต้องเอาสินค้าตัวอย่างไปให้ลูกค้าชิมก่อน พอเป็นที่รู้จักว่าสินค้าของเราคืออะไร สร้าง Awareness ต่อเนื่องมั้ย ต้องคิดหมด มีสินค้าแนะนำแจกมั้ย เหมือนทำตลาดในเมืองไทย แต่เป็นการทำตลาดต่างประเทศที่ต้องใช้เวลา
การทำการตลาดช่วงปีแรก ใช่ว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี ดังนั้นต้องออกงานแสดงสินค้าตลอด ออกหลายๆ ปี เพื่อตอกย้ำว่าเรายังอยู่ตรงนี้ ยังเป็นผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีสินค้าที่พัฒนาใหม่ๆ คุณจ่ายเงินซื้อสินค้าของเรา คุณได้รับของแน่นอน และได้รับของดีมีคุณภาพด้วย “
ภูมิอากาศ ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ และกฎระเบียบในการนำเข้าสินค้า คือปัญหาสำคัญในการทำตลาดส่งออกต่างประเทศ
“ปัญหาที่เจอ ในประเทศคือเรื่องของวัตถุดิบพืชผลทางการเกษตรที่ค่อนข้างผันผวน ขึ้นอยู่กับฝน ฟ้า อากาศ ผลผลิตจะออกมากน้อยแค่ไหน ราคาจะอยู่ที่เท่าไหร่ เป็นเรื่องของการบริหารจัดการวัตถุดิบสด ถือเป็นความท้าทายของทุกโรงงาน รวมถึงความผันผวนของราคาบรรจุภัณฑ์ ซึ่งบริษัทเราใช้กระป๋องเหล็กในการบรรจุน้ำผลไม้ ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งมีผู้ผลิตไม่กี่รายที่ผลิตเหล็กในลักษณะสัมผัสอาหาร
สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจไปต่อได้ อย่างแรกคือ บริษัทต้องมีทุนหมุนเวียน รวมถึงมีการคาดการณ์เกี่ยวกับปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น น้ำท่วม ฝนตก ความแห้งแล้ง ซึ่งทีมงานของเราคุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้ เพราะทำข้าวเกรียบมโนห์รามานาน รู้จักและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับซัพพลายเออร์พอสมควร รวมถึงการรับออเดอร์ลูกค้า ต้องดูว่าออเดอร์ต่อเนื่องแค่ไหน ถ้าออเดอร์ต่อเนื่องมากๆ ก็ง่ายในการบริหารจัดการวัตถุดิบ เพราะการบริหารวัตถุดิบจะสอดคล้องกับการรับออเดอร์
ส่วนต่างประเทศเริ่มแรกที่ทำน้ำผลไม้ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบสดบ้าง แต่สามารถบริหารจัดการได้ เมื่อแตกกลุ่มสินค้าใหม่ออกมามีปัจจัยการผลิตที่เราคาดไม่ถึงเกิดขึ้น เราถามข้อมูลจากลูกค้าไม่ละเอียดพอก็ส่งผลถึงการผลิต ดังนั้นอินเตอร์ดริ๊ง์จึงให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์การอาหารมาก เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่มีหลากหลาย ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ความยากอีกอย่างของการส่งสินค้าไปต่างประเทศคือ เรื่องกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของส่วนผสมของสินค้า เช่น อะไรใส่ได้ อะไรใส่ไม่ได้ ส่วนผสมอะไรอนุญาตหรืออะไรไม่อนุญาต เพราะแต่ละประเทศมีกฎหมายด้านการกระทรวงสาธารณสุขที่ต่างกัน”
วางกลยุทธ์ทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จผ่านทฤษฏี “หิว”
“กลยุทธ์ทางการตลาดส่วนใหญ่จะใช้ทฤษฎี “หิว” คือ ถ้าคนหิว ก็กระหายอยากทำงาน และถ้าเราหิวตลอดเวลาก็เปรียบได้กับเราอยากได้ออเดอร์อยู่ตลอด พยายามขยายช่องทางในการขายที่ไม่ใช่จมอยู่กับประเทศหลักๆ ประเทศเดียว เกิดวันหน้ามีปัญหาแล้วประเทศนั้นไม่สั่งซื้อสินค้าของเรา เราก็ตาย แต่ทฤษฎี “หิว” นี้ก็ต้องสื่อสารกับทางโรงงานว่าหากเรารับออเดอร์มา โรงงานผลิตสินค้าให้ลูกค้าได้ทันท่วงทีมั้ย เราต้องการทำอะไร ทิศทางลมของแมนเนจเมนท์ปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง เวลาไปออกงานแสดงสินค้าต้องดูกลุ่มเป้าหมายว่า แต่ละกลุ่มต้องการขายอะไร และอย่าหยุดที่จะหาลูกค้าป้อนโรงงานอยู่เรื่อยๆ ออเดอร์เล็กๆ น้อยๆ เก็บให้หมด เพราะวันนี้เล็กวันหน้าไม่ได้หมายความว่าจะเล็กเสมอไป
การดูแลลูกค้าทั้งรายเล็กและรายใหญ่ เรายังคงใช้นโยบายเดิมคือ ดูแลแบบเท่าเทียมกัน ลูกค้าเดิมต้องดูแลรักษาให้ดี ลูกค้าใหม่ก็ต้องใส่ใจสร้างให้เค้าเติบโต ภายภาคหน้าลูกค้าก็จะสั่งซื้อสินค้าของเราอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราพยายามจะใช้ทฤษฏี “หิว” หาเรื่อยๆ ไม่ทิ้งลูกค้าเก่า พร้อมกับขยายฐานลูกค้ารายใหม่ๆ รวมถึงในส่วนของการจัดการในโรงงานก็ต้องพยายามปรับให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น”
แนะ SMEsไทยคิดจะทำตลาดส่งออกสินค้าต้องมีใจรักและอดทน
“รักจะทำโรงงานต้องมีใจอดทน ทำด้วยความสนุก สนุกกับการทำงาน คิดว่าทุกอย่างคือความท้าทาย ถ้าไม่อย่างนั้นจะท้อแท้และเหนื่อย ไม่ใช่เห็นคนอื่นรวยแล้วอยากจะทำบ้าง แบบนั้นเหนื่อย ขอให้ใจรัก รักที่จะทำ ประเด็นสำคัญคือ คู่ค้าที่ดีที่คอยให้การสนับสนุนทั้งคู่ค้าที่เป็นลูกค้า และคู่ค้าที่คอยซัพพอร์ตเรื่องเงินทุน เพราะ SMEs ส่วนใหญ่ใช้เงินหมุนเวียน มีเงินของตัวเองส่วนหนึ่ง และต้องได้รับการสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งจากทางธนาคาร เพื่อให้เดินไปด้วยกันได้ จึงจะสามารถทำให้วงกลมเศรษฐกิจของประเทศไทยหมุนได้ เพราะฐานของประเทศจริงๆ คือ SMEs ซึ่งตอนนี้มีอยู่เยอะมาก”
อัพเดทเมื่อ 11/09/2560