มาถึงวันนี้ หลายท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า FinTech กันบ้างแล้ว เพราะเป็นคำที่มาพร้อมกับกระแสแห่งโลกดิจิตอล โดยเฉพาะท่านที่ติดตามแวดวงเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งหลายท่านมีคำถามว่า การเข้ามาของ FinTech จะเป็นภัยคุกคามต่อการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์หรือไม่ โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่า FinTech จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการเงินยุคใหม่ให้พัฒนาและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะด้านความสะดวก รวดเร็ว ในต้นทุนที่ต่ำลง ดังนั้น หากกลุ่มธนาคารต่างๆ ปรับแนวคิดและดึงเทคโนโลยี FinTech มาประยุกต์ใช้ หรือการร่วมเป็นพันธมิตร แทนที่จะเป็นคู่แข่งหรือภัยคุกคาม ย่อมเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้ใช้บริการ ทั้งยังส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย
FinTech คือ...?
สำหรับบางท่านที่อาจจะยังไม่แน่ใจว่าผมกำลังพูดถึงอะไรอยู่ ก็ขออนุญาตอธิบายความหมายของ Fintech อย่างย่อ ดังนี้ ครับ “Fintech” มาจากการรวมของ 2 คำ คือ “Financial” และ “Technology” ซึ่งหากแปลตรงตัวก็จะหมายถึง เทคโนโลยีทางการเงิน หรือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจการเงิน เพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินสะดวกรวดเร็ว และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายยิ่งขึ้น สามารถทำรายการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพา หรือลดการพึ่งพาธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงิน
ถ้าจะยกตัวอย่าง Fintech ในความหมายนี้ ตั้งแต่ยุคก่อนจนถึงปัจจุบัน เช่น ตู้เอทีเอ็ม ตู้เติมเงิน/จ่ายเงินค่าบริการต่างๆ จนกระทั่งถึงบริการทางการเงินผ่านอินเตอร์เน็ต ผ่านมือถือ เป็นต้น มาถึงยุคใหม่ เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาสูงขึ้นมาก นำมาซึ่งนวัตกรรมทางการเงินที่ก้าวล้ำไปอีกขั้น เช่น การใช้เทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในธุรกรรมการชำระเงิน โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคารพาณิชย์ โดยเชื่อว่าจะช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากการใช้คนปฏิบัติ และป้องกันการ Fraud ได้ เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกรรมนั้นๆ จะสามารถตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมได้ด้วยตัวเองหรือในระหว่างกลุ่มบุคคลผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างสกุลเงินแบบใหม่ ซึ่งเป็นสกุลเงินที่ไม่มีตัวตน (Cryptocurrency) หรือที่รู้จักในนาม Bitcoin (BTC) มาใช้แทนสกุลเงินที่มีอยู่ปัจจุบัน (Traditional Currency) เป็นต้น
นอกจากนี้ หากนำคำว่า Startup เข้าไปผนวกด้วย FinTech ในความหมายนี้ จะหมายถึง ผู้ประกอบการธุรกิจเริ่มต้น ที่มุ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการเงินหรือการให้บริการทางการเงิน เพื่อมาเสริมช่องว่างที่สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ยังอาจไม่สามารถเข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้า ซึ่งโดยมากคนทั่วไปมักจะเข้าใจคำว่า FinTech ในความหมายนี้
เทคโนโลยี & แรงหนุนภาครัฐ ปัจจัยขับเคลื่อน FinTech
FinTech ทั่วโลก มีแนวโน้มเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้กระทั่งในไทยเอง ที่พบว่าจำนวน FinTech Startup เพิ่มขึ้นจากจำนวนไม่กี่ 10 แห่ง ในปี 2559 กลายเป็นหลักร้อยในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เป็นปัจจัยขับเคลื่อนแล้ว สิ่งสำคัญคือ การได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือกับสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐ จะเห็นว่า รัฐบาลมีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค Thailand 4.0 หรือ การใช้นวัตกรรมนำธุรกิจ ซึ่งการส่งเสริมให้เกิด FinTech Startup ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และยังมีหลายหน่วยงานที่ตื่นตัว เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดให้มีสนามทดสอบบริการ FinTech (Regulatory Sandbox) ก่อนจะปล่อยบริการสู่ผู้บริโภคโดยรวม เช่นเดียวกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่มี Regulatory Sandbox สำหรับนวัตกรรมการให้บริการรูปแบบใหม่ที่จะมาใช้ในตลาดทุน อย่างไรก็ดี หากหน่วยงานต่างๆ สามารถบูรณาการหรือร่วมมือกันทำเป็น National Sandbox โดยดึงภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญมาร่วมคิดร่วมทำด้วย น่าจะเกิดผลในเชิงรูปธรรมและมีเอกภาพมากขึ้น อย่างเช่นที่ มาเลเซีย มีการจัดตั้ง MaGIC (Malaysian Global Innovation & Creativity Centre) ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบและพัฒนา Startup ตั้งอยู่ที่ Cyberjaya หรือที่สิงคโปร์ มีการตั้งศูนย์ BASH (Build Amazing Startups Here) ที่ทุ่มงบประมาณปีละกว่า 250 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 6 พันล้านบาท อีกตัวอย่างที่เวียดนาม ที่ประกาศแนวคิดริเริ่ม Vietnam Silicon Valley (VSV) Project ในกรุงฮานอย ตัวอย่างเหล่านี้ ล้วนสะท้อนถึงการตื่นตัวและการส่งเสริมอย่างจริงจังในประเทศเพื่อนบ้านของเรา
หลากหลายรูปแบบบริการ FinTech
ปัจจุบัน บริการ FinTech ทั่วโลกมีให้เลือกใช้อย่างหลากหลาย แต่ที่โดดเด่นและน่าจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคนั้น อาจแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้ครับ
ด้านการชำระเงิน/โอนเงิน อาทิ mPay, TrueMoney, Paypal, Alipay, Skrill, Rabbit และ LINE Pay ซึ่งเป็นบริการรับชำระเงินค่าสินค้า/บริการทางออนไลน์ โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด ไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร ไม่ต้องมีบัตรเครดิตใดๆ
ด้านการให้สินเชื่อและเงินทุน โดยกลุ่มที่ให้บริการ P2P Lending และ Trade Finance อาทิ Lending Club, Iwoca, OnDeck และ TRADESHIFT และกลุ่มที่นำเสนอบริการระดมทุนทางออนไลน์ (Crowd Funding) อาทิ SEEDRS, Crowdcube และ OurCrowd
ด้านการจัดการการเงินส่วนบุคคล อาทิ Wealthfront และ Betterment ที่ใช้เทคโนโลยี Robo-advisor ในการวิเคราะห์และช่วยบริหารเงินลงทุนโดยอัตโนมัติ เพื่อสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมายในการลงทุนของลูกค้า Piggipo แอพพลิเคชั่นที่ช่วยควบคุมและบริหารจัดการการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของลูกค้า โดยเฉพาะผู้ที่มีบัตรเครดิตหลายใบ iTax ที่นอกจากจะช่วยคำนวณเงินภาษีได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ยังช่วยวางแผนภาษีให้กับลูกค้าด้วย
ด้านการนำเสนอข้อมูลการเงิน/การลงทุนเพื่อสะดวกในการเปรียบเทียบ อาทิ gobear.com, Rabbit Finance ให้บริการข้อมูลเปรียบเทียบประกันรถยนต์ โปรบัตรเครดิต จากทุกยี่ห้อ ช่วยประหยัดเวลาลูกค้าในการเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุด StockRadars แอพพลิเคชั่นที่ใช้กรองหุ้นที่ตรงตามเงื่อนไข โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเปิดดูหุ้นทุกตัวในตลาด รวมทั้งสามารถตั้ง ราคาหุ้นที่สนใจได้ด้วย
แม้ว่า FinTech จะมีแนวโน้มเติบโตและได้รับการตอบรับมากขึ้น แต่กระนั้น ก็ยังมีข้อจำกัดในการขยายตัว โดยเฉพาะเรื่องความน่าเชื่อถือ และเงินทุน ดังนั้น ผมเชื่อว่าหากธนาคารและสถาบันการเงิน ซึ่งมีจุดแข็งทางด้านเครือข่าย เงินทุน และความน่าเชื่อถือ ได้ร่วมมือกันในเชิงพันธมิตรกับ FinTech Startup ก็จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะมีเทคโนโลยีและโซลูชั่นทางการเงินใหม่ๆ มาให้ใช้บริการได้อย่างสบายใจ ในต้นทุนที่ต่ำลง อีกทั้งยังมีส่วนนำพาประเทศสู่Thailand 4.0 ได้สมกับเป้าหมายที่รัฐบาลคาดหวังไว้ครับ
--------------------------------
Disclaimer: ข้อมูลในบทความ เป็นข้อมูลที่วิเคราะห์และรวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย บมจ.ธนาคารกรุงไทย และผู้เขียน จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
โดย รชตพงศ สุขสงวน ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ
อัพเดทเมื่อ 13/07/2560