เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกนับเป็นกลจักรสำคัญประการหนึ่งของเศรษฐกิจไทย แต่ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา การส่งออกหดตัวและซบเซาลงมาก จึงมิอาจทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ดี หน่วยงานวิจัยส่วนใหญ่ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก เห็นตรงกันว่า การส่งออกน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในปี 2560 นี้
แนวโน้มการส่งออกปี 2560
ปัจจัยบวกสำคัญที่คาดว่าจะผลักดันให้การส่งออกในปี 2560 ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องจากปลายปี 2559 สรุปได้ ดังนี้
เศรษฐกิจโลกโดยรวมฟื้นตัว แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะยังเป็นไปอย่างเปราะบางภายใต้ความไม่แน่นอน แต่กระนั้น เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในอาเซียนก็ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี อีกทั้งการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ย่อมส่งผลบวกต่อการส่งออกของไทยไปตลาดหลักเดิมที่ซบเซามากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขส่งออกไปสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ในเดือน ต.ค - พ.ย. 2559 ต่างปรับตัวดีขึ้น (+2.3% +0.2% และ +15.7% ตามลำดับ) โดยสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก โลหะและผลิตภัณฑ์
ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 25% จากปี 2559 (ประมาณการจากราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้นจาก 41.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ) จึงน่าจะส่งผลบวกต่อราคาสินค้าส่งออกสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน เช่น ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ราคาสินค้าปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์พลาสติก และ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น นอกจากนี้ การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปรับตัวดีขึ้น การส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้นจึงมีโอกาสขยายตัว
แรงส่งจากการส่งออกของการค้าชายแดน/ผ่านแดน การค้าชายแดน/ผ่านแดน นับว่ามีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) มีแนวโน้มที่จะเติบโตในเกณฑ์สูง ทั้งในด้านการผลิต การค้า และการลงทุน ทำให้กำลังซื้อสูงขึ้น ซึ่งสินค้าจากไทยถือว่าเป็นที่นิยมของกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตจากไทยไปสู่ประเทศ CLMV เพื่อขยายตลาด เพื่อประหยัดต้นทุนผลิต และเพื่อสิทธิประโยชน์ทางการค้า (GSP) ทำให้การส่งออกสินค้าบางประเภทลดลง เช่น เครื่องดื่ม สิ่งทอ รองเท้า ปูนซีเมนต์ เป็นต้น แต่กระนั้น สินค้าหลายประเภทยังมีความต้องการ โดยเฉพาะสินค้าไลฟ์สไตล์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มชนชั้นกลางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สินค้าวัตถุดิบและวัสดุก่อสร้าง ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพื่อรองรับการผลิตและการก่อสร้างที่ขยายตัว ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประมาณการว่า การส่งออกของการค้าชายแดน/ผ่านแดน ปี 2560 จะขยายตัว 3.9% หรือ คิดเป็นมูลค่า 20,305 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (741,122 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.4%)
เงินบาทอ่อนค่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate มีส่วนทำให้ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งน่าจะเป็นผลบวกต่อราคาสินค้าของไทย และมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาท อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าลงมากนัก และโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้า เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นฐานะทุนสำรองฯ ที่สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นกว่า 3 เท่า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังมีแนวโน้มเกินดุล และฐานะการเงินของสถาบันการเงินยังมีความแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม การส่งออกเฉลี่ยทั้งปี 2560 จะยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ดังนี้
นโยบายการค้าที่ไม่แน่นอนของสหรัฐฯ จากการที่คุณโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ได้ประกาศไว้เป็นนโยบายหาเสียงว่าจะสังคายนาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศใหม่ โดยมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปในลักษณะที่จะกีดกันสินค้านำเข้า โดยเฉพาะกับประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ามาก หนึ่งในนั้น คือ จีน ซึ่งเป็นประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามากที่สุด โดยคุณทรัมป์ ประกาศไว้ตอนหาเสียง และยังย้ำมาอย่างต่อเนื่องหลังได้รับชัยชนะว่า จะขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนเป็น 45% (จากค่าเฉลี่ยประมาณ 1-3% ในปัจจุบัน) ทำให้เกิดความกังวลว่าจะกระทบมาสู่การส่งออกสินค้าของไทยด้วย เพราะสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% ของสินค้าส่งออกรวมนั้น จำนวนไม่น้อยเป็นสินค้าขั้นกลางหรือกึ่งวัตถุดิบที่จีนใช้เพื่อผลิตและส่งออกต่อ อย่างไรก็ดี นโยบายนี้ อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่นัก เพราะหากคุณทรัมป์ เดินหน้าใช้นโยบายกีดกันการค้ากับประเทศต่าง ๆ จริง ก็อาจเกิดการตอบโต้ และนำไปสู่สงครามการค้า ที่ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการค้าโลก รวมถึงสหรัฐฯเองด้วย
ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย การส่งออกของไทยที่หดตัวและซบเซาลงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องอาศัยเวลาในการแก้ไขและปรับตัว อาทิ ปัญหาต้นทุนค่าแรงที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การผลิตสินค้าที่เน้นใช้แรงงานแข่งขันไม่ได้ ปัญหาทางด้านเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะยังเป็นประเด็นที่กดดันต่อการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าเดิมที่เคยเป็นพระเอกในการส่งออกมาก่อน เช่น สิ่งทอ เครื่องหนัง Hard Disk Drive เป็นต้น
ความผันผวนของค่าเงิน แม้ว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าเช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค แต่ในระหว่างทาง จะยังเคลื่อนไหวผันผวน กล่าวคือ บางช่วงอาจอ่อนค่าลงตามทิศทางระยะยาว แต่ในบางช่วงอาจกลับแข็งค่า ตามปัจจัยความไม่แน่นอนในต่างประเทศ โดยเฉพาะหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ก็จะทำให้เม็ดเงินที่จะไหลไปลงทุนในสหรัฐฯ หวนกลับมาลงทุนในตลาดประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งไทย
ดังนั้น ผู้ส่งออก และ SMEs ที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมความพร้อม และดำเนินกลยุทธ์ให้สอดรับกับโอกาสที่กำลังจะกลับมาในปี 2560 แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ละเลยที่จะบริหารความเสี่ยงในปัจจัยที่ยังกดดันการขยายตัวของการส่งออก ภายใต้สภาวการณ์ที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนครับ
--------------------------------
Disclaimer: ข้อมูลในบทความ เป็นข้อมูลที่วิเคราะห์และรวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย บมจ.ธนาคารกรุงไทย และผู้เขียน จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
โดย รชตพงศ สุขสงวน ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ