FOLLOW US Krungthai SME
Subscribe
Unsubscribe
เราจะส่งข้อมูลวิจัยและความรู้ธุรกิจให้กับคุณตามอีเมล์ที่แจ้ง
ปัจจุบันธุรกิจเกษตรไทยต้องเผชิญปัญหาและความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าเกษตรที่มีความผันผวนมากขึ้น กฎกติกาด้านการค้าและการลงทุนที่เปลี่ยนไป รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภัยคุกคามทางธรรมชาติ ทำให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องปรับตัวโดยการให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร และพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีเกษตร (Agritech : Agricultural Technology) มาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น
สำหรับตัวอย่างของการนำ Agritech มาใช้ ได้แก่ การนำอุปกรณ์ตรวจวัด หรือระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ มาควบคุมและติดตามการเติบโตของผลผลิต การนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เช่น ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่เจาะจงในแต่ละพื้นที่มาใช้วิเคราะห์โดยเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์) และเทคโนโลยี Machine Learning (การเรียนรู้ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์) เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับสภาพการเติบโตของผลผลิต ปริมาณน้ำ รวมทั้งปุ๋ยที่ต้องใช้ การพยากรณ์สภาพการเปลี่ยนแปลงอากาศ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเริ่มเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว หรือพื้นที่ใดในไร่ที่พืชมีการเติบโตได้ไม่ดี รวมทั้งเทคโนโลยีเครื่องจักรกลอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์/แขนกลในแปลงเกษตร ไปจนถึงการใช้ QR Trace เพื่อตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาของสินค้า Agritech จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร ตั้งแต่เกษตรกร ผู้แปรรูป จนถึงผู้ขายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพิ่มศักยภาพในการผลิต รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือกับเกษตรกรเพื่อให้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการขยายตลาดของผู้ประกอบการที่อยู่ใน แพลตฟอร์มเทคโนโลยีดังกล่าว เช่น ธุรกิจผลิตอุปกรณ์ตรวจวัด เซ็นเซอร์ และสมองกลต่างๆ ธุรกิจให้คำปรึกษาวางระบบ IT และบริหารจัดการฐานข้อมูล ธุรกิจให้บริการด้านคลาวด์คอมพิวติง รวมทั้งธุรกิจพัฒนาและออกแบบซอฟแวร์แอปพลิเคชัน อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายรออยู่เช่นกัน อาทิ เกษตรกรในไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ยังไม่มีเครือข่ายหรือการรวมกลุ่มเพื่อผลิตและขายสินค้าเพื่อให้ได้ปริมาณที่มาก ทำให้การนำเทคโนโลยีมาใช้อาจให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากหลายหน่วยงาน ขณะที่ไทยยังไม่มีระบบการบูรณาการฐานข้อมูลมากนัก โดย อภินันทร์ สู่ประเสริฐ หัวหน้าส่วน ทีม Business Risk and Macro Research
Disclaimer: ข้อมูลในบทความ เป็นข้อมูลที่วิเคราะห์และรวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย บมจ. ธนาคารกรุงไทย และผู้เขียน จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
อัพเดทเมื่อ 06/06/2561