หน้าหลัก
ผลิตภัณฑ์และบริการ
โปรโมชั่น
ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ
SME Focus Magazine
งานสัมมนา
โครงการอบรม
คำนวณสินเชื่อเบื้องต้น
ค้นหาจุดบริการ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

FOLLOW US Krungthai SME​


สนใจรับวิจัยธุรกิจและความรู้กรุงไทย SME ทางอีเมล์
Krungthai SME

โลกก้าวไป SME ไทยพร้อมหรือยัง?

 

            ปัจจัยแวดล้อมของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะเทคโนโลยี ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการดำเนินธุรกิจด้วย  การปรับตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นทางออกที่ทุกคนคงไม่ปฏิเสธ แต่กระนั้น การปรับตัวก็ควรจะต้องเริ่มต้นเสียแต่ตอนนี้ เพราะถ้ายังไม่เริ่ม คงไม่ใช่แค่เราจะหยุดอยู่กับที่เท่านั้น หากแต่จะกลายเป็นถดถอยและถูกทิ้งไว้ข้างหลังเสียมากกว่า 

ความท้าทายของโลกยุคใหม่

            ความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดมากขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งผู้ที่เป็น Smart SME  จำเป็นจะต้องเรียนรู้และเตรียมพร้อมรับมือนั้นมีมากมาย  แต่ผมขออนุญาตสรุปเฉพาะประเด็นที่เห็นได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ดังนี้

  •  ด้านเศรษฐกิจ  มหาอำนาจทางเศรษฐกิจกำลังจะถูกโยกจากโลกตะวันตก มาสู่เอเชีย โดยเฉพาะ จีน อินเดีย และประเทศตลาดเกิดใหม่  สะท้อนจากแนวโน้ม GDP Growth ของกลุ่มประเทศผู้นำในโลกตะวันตกอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ต่างก็ขยายตัวอยู่ในระดับต่ำเพียง 1–3% ต่อเนื่อง ขณะที่ทางฟากฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะจีน และอินเดีย จะยังขยายตัวไม่ต่ำกว่า 6% ไปอีกอย่างน้อย 3-5 ปี สอดคล้องกับผลสำรวจจำนวนเศรษฐีชาวจีนที่มีสินทรัพย์ลงทุนมากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป มีมากถึง 1.9 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 9 เท่าตัวจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และโดยเฉพาะผลการศึกษาของ PwC ที่ระบุว่าในปี 2050 หรืออีก 33 ปีข้างหน้า จีนจะยังคงครองอันดับขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกต่อไป ขณะที่อินเดียจะขึ้นแซงสหรัฐฯ มาเป็นอันดับ 2 ที่น่าสนใจคือ อินโดนีเซีย บราซิล และเม็กซิโก จะเลื่อนอันดับขึ้นอย่างชัดเจน มาอยู่ที่อันดับ 4, 5 และ 7 ของโลก
  • ด้านประชากรและสังคม โครงสร้างประชากรของหลายๆ ประเทศ รวมทั้งไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สัดส่วน Active Labor force (ประชากรช่วงอายุ 20 – 55 ปี) มีแนวโน้มลดลง นำมาซึ่งปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ทั้งในส่วนของค่าจ้างและภาระสวัสดิการ ซึ่งจะกระทบมากกับธุรกิจที่ยังต้องพึ่งพิงแรงงาน นอกจากนี้  ปัญหา Turnover ของแรงงานก็จะมากขึ้นด้วย ส่วนหนึ่งเพราะคนรุ่นใหม่มีแนวคิดที่จะทำธุรกิจหรือเป็นนายจ้างตัวเองมากขึ้น และไม่ทนกับความจำเจหรือลักษณะงานในระบบ Office
  • ด้านเทคโนโลยี  ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ เป็นปัจจัยที่เปลี่ยนโฉมรูปแบบการทำธุรกิจ และวิถีชีวิตของคน รวมถึงยังเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนโลกให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างที่เราอาจจะจินตนาการได้ไม่ถึง ซึ่งหากธุรกิจไหนก้าวตามไม่ทัน ก็อาจถูก Disrupt และล้มหายไปได้ในที่สุด ทั้งนี้ จากผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการ 16 สาขาอุตสาหกรรมของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า มี SME เพียง 4.10% ที่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจแบบดิจิตอลอีโคโนมีในระดับมาก ขณะที่ 61.03% มีความรู้ความเข้าใจน้อย  จึงเป็นเรื่องท้าทายที่ภาครัฐและพวกเราทุกคนคงต้องช่วยกันกระจายและสร้างองค์ความรู้ในเรื่องนี้  ตัวอย่างที่สะท้อนว่าโลกกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาทิ Mercedes-Benz ประกาศว่าจะเริ่มผลิตรถพลังงาน Hydrogen ภายในสิ้นปี 2017  BI Intelligence คาดการณ์ว่า จะมีรถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Self-driving cars) อย่างน้อย 10 ล้านคันทั่วโลกภายในปี 2020   ประเทศเกาหลีใต้ มีความหนาแน่นของการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมสูงที่สุดในโลก โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงประมาณ 7 เท่า (478 หน่วยต่อคนงาน 10,000 คน) ขณะที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังในญี่ปุ่น เปิดแผนกจำหน่ายหุ่นยนต์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันขึ้น  ปริมาณธุรกรรมการใช้เงินสดจะค่อย ๆ หมดไป โดยจะถูกแทนที่ด้วยระบบ Payment รูปแบบใหม่ ๆ เช่น บัตร, QR Code, Digital Banking  เป็นต้น  และ World Economic Forum (WEF) คาดการณ์ว่า Blockchain และ Bitcoin จะถึงจุดที่มีการตอบรับการใช้งานอย่างมาก และเป็นเรื่องธรรมดา (tipping point) ภายในปี 2027  
  • ด้านกฎเกณฑ์และการกำกับ หากมองทางด้านกฎเกณฑ์และความร่วมมือทางการค้า ก็พบว่ามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหลาย ๆ ประเทศอยากที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเองในยุคที่การแข่งขันทางการค้าทวีความรุนแรง อย่างเช่นกรณี ของสหรัฐฯ ที่ประกาศแยกทางกับ TPP และพยายามจะออกมาตรการกีดกันการค้ากับประเทศที่ตนเองขาดดุลสูง หรือการที่หลายประเทศออกมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่เข้มงวดขึ้น  ซึ่งทำให้ประเทศผู้ที่จะส่งสินค้าเข้าไปขายต้องมีต้นทุนดำเนินงาน หรือมีอุปสรรคมากขึ้น  ในส่วนของในไทยเอง กฎหมายหลายฉบับมีการปรับเปลี่ยนและกำลังจะถูกปรับเปลี่ยนอีกมาก ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ประเด็นที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคจะได้ถูกปรับแก้ อาทิ กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ เช่น การลดระยะเวลาการจัดตั้งธุรกิจ การลดขั้นตอนการขอใช้ไฟฟ้า การออกกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจใหม่ การลดภาษีการโอนทรัพย์สิน การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย เป็นต้น ซึ่งทำให้ ธนาคารโลกเลื่อนอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of doing business) ประจำปี 2018 ของไทยขึ้นถึง 20 อันดับจาก 46 เป็น 26 ของทั้งหมด 190 ประเทศทั่วโลก  อย่างไรก็ดี ก็มีระเบียบ กฎเกณฑ์ใหม่ที่ปรับมาเพื่อให้การทำธุรกิจมีมาตรฐานและมีคุณภาพมากขึ้น แต่หากไม่เตรียมการปรับตัวและศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ ก็อาจมีผลกระทบในช่วงต้นได้ เช่น นโยบาย SME บัญชีเดียว ซึ่งหากดำเนินการได้ จะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนของ SME อีกทั้งการลงบัญชีที่เป็นมาตรฐานและถูกต้องทำให้ผู้ประกอบการการมีสารสนเทศที่มีคุณภาพสำหรับใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ด้วย

แนวทางการปรับตัว

            สำหรับข้อเสนอแนะเบื้องต้นที่ Smart SME สามารถพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสม มีดังนี้    

  • ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งนอกเหนือจากการนำเทคโนโลยีมาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ (Product & Service Excellence) เพื่อให้สามารถตอบสนองลูกค้าเฉพาะกลุ่มเฉพาะรายมากขึ้นแล้ว ควรจะต้องนึกถึงการปรับกระบวนการผลิตหรือกระบวนการทางธุรกิจด้วย (Innovative Process) เช่น การนำเครื่องจักรอัตโนมัติที่ทันสมัยและยืดหยุ่นสูง (Flexible production) มาแทนเครื่องจักรและระบบการผลิตที่ตายตัวและเน้นการผลิตจำนวนมาก เพื่อให้ End to end process มีความง่าย คล่องตัว รวดเร็ว หรือการนำระบบ Internet มาเชื่อมโยงข้อมูลในกระบวนการธุรกิจ (Internet of Process – IoP) เช่น กระบวนการรับ Order  การบริหารคลังสินค้า การบริหารจัดการทางการเงิน การดูแลหลังการขาย เป็นต้น
  •  การบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพ บุคลากรคุณภาพนับเป็นทรัพยากรที่มีค่าและยิ่งหายาก องค์กรจึงต้องบริหารจัดการอย่างเหมาะสม อาทิ ต้องดึงจุดแข็งและปิดจุดอ่อนของแรงงานแต่ละช่วงวัย สร้างกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้จากพนักงานรุ่นเก่าไปสู่พนักงานรุ่นใหม่  เพิ่มทักษะให้ตรงกับงานที่ทำ เพิ่มบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)  ปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้เอื้อต่อการคิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ
  • สร้างภูมิคุ้มกันด้วยการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เช่น ธุรกิจส่งออก ควรมีการกระจายตลาดส่งออก โดยแบ่งสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างตลาดหลักเดิม กับตลาดใหม่ที่จะมีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต การลดความเสี่ยงในโครงสร้างทางการเงิน เช่น ไม่ใช้เงินกู้ระยะสั้นไปลงทุนในโครงการระยะยาวมากเกินควร (maturity mismatch) การบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้  การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และอื่น ๆ  ซึ่งจะช่วยให้องค์กรมีกลไกในการแจ้งเตือนความผิดปกติหรือความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบได้เป็นการล่วงหน้า


โดย รชตพงศ สุขสงวน ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ

Disclaimer: ข้อมูลในบทความ เป็นข้อมูลที่วิเคราะห์และรวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย บมจ.ธนาคารกรุงไทย และผู้เขียน จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

อัพเดทเมื่อ 25/04/2561