หน้าหลัก
ผลิตภัณฑ์และบริการ
โปรโมชั่น
ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ
SME Focus Magazine
งานสัมมนา
โครงการอบรม
คำนวณสินเชื่อเบื้องต้น
ค้นหาจุดบริการ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

FOLLOW US Krungthai SME​


สนใจรับวิจัยธุรกิจและความรู้กรุงไทย SME ทางอีเมล์
Krungthai SME

อุตสาหกรรมอาหารยังก้าวไกลทั้งในไทยและระดับโลก

 

            อุตสาหกรรมอาหารนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ซึ่งรัฐบาล ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยต่างก็ให้ความสำคัญและสนับสนุน สะท้อนจากนโยบาย ครัวไทยสู่ครัวโลก ที่ถูกกำหนดมานานกว่า 10 ปี แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ยังคงสานต่อ โดยมีการกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2559 -2564) อย่างเป็นรูปธรรม  อีกทั้งอุตสาหกรรมนี้ก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนที่มาจากการบริโภคในประเทศเอง และการส่งออก ดังนั้น จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานนี้ครับ

อาหาร...ค่าใช้จ่ายหลักของครัวเรือน

            จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะพบว่า ค่าใช้จ่ายในการยังชีพส่วนใหญ่ของครัวเรือน จะเป็นค่าอาหาร/เครื่องดื่ม/ยาสูบ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 36.1 (ปี 2559) หรือกว่า 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายรวม และสัดส่วนดังกล่าวก็มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง  และหากเปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารกับอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจก็พบว่าค่อนข้างเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน นั่นหมายความว่า แนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สัดส่วนการใช้จ่ายด้านอาหารของครัวเรือนก็จะมีโอกาสที่จะขยับสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน      
 

ส่งออกโน้มฟื้นตัว หลังถูกกระทบจากภัยแล้ง

            และเมื่อพิจารณาทางด้านตลาดส่งออก จะพบว่าไทยเองมีศักยภาพสูง และนับเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญของโลก โดยมูลค่าการส่งออกมีขนาดใหญ่ติดอันดับโลกเลยทีเดียว ซึ่งข้อมูลจาก WorldAtlas ระบุว่าไทยส่งออกอาหารมากเป็นอันดับที่ 16 ของโลก และ อันดับ 4 ของเอเชีย(รูปที่ 2) นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ถูกกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 มูลค่าการส่งออกอาหารทั้งในส่วนของอาหารสดและอาหารแปรรูป ต่างกลับมาขยายตัว 
 

โอกาส และความท้าทายของผู้ประกอบการไทย

โอกาส

1.     ประเทศไทยมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย และแรงงานมีทักษะเหมาะสม

2.     ตลาดในประเทศมีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงมีศักยภาพเพียงพอรองรับความต้องการ

3.     ตลาดส่งออกยังมีโอกาสเติบโต เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพได้มาตรฐาน หากสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นอาหารแห่งอนาคต เช่น อาหารเพื่อควบคุมระดับไขมันและน้ำตาล อาหารเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น และใช้ตราสินค้าที่เป็นของตัวเอง (Brand) ก็จะยิ่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

4.   การเปิด AEC ทำให้ตลาดเปิดกว้างขึ้น อีกทั้งมีการเกิดขึ้นของกลุ่มชนชั้นใหม่ในประเทศต่างๆจากการย้ายถิ่นของแรงงานในอาเซียน เช่น การเพิ่มขึ้นของผู้บริหารสัญชาติสิงคโปร์ในเวียดนาม ลาวและกัมพูชา ทำให้มีความต้องการอาหารที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงเพิ่มขึ้น

5.     การเปิด AEC มีส่วนช่วยให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบต่ำลง นับเป็นการเพิ่มทางเลือกในการสรรหาวัตถุดิบจากหลายแหล่ง

6.   การขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารของไทยในต่างแดนทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้การส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปที่เกี่ยวข้องขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว เครื่องปรุงรส อาหารแช่แข็ง และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น

7.     หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ

ความท้าทาย 

1.     กว่าร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทย เป็น SME ที่ระบบการผลิตส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐานในระดับสากล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากอาเซียนในการใช้วัตถุดิบร่วมกันได้

2.     ต้นทุนขนส่งสินค้าของไทย ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่ารัฐบาลจะเร่งดำเนินการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังต้องใช้เวลากว่าที่จะใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ

3.     ปัญหาแรงงานขาดแคลน และความเข้มงวดในเรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว

4.     แม้อุปสรรคด้านภาษีศุลกากรจะลดลงไปมากแล้ว แต่หลายประเทศยังมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) อยู่พอสมควร และแม้แต่ในประเทศอาเซียน  ซึ่งแต่ละประเทศยังไม่สามารถหาจุดร่วมในการลดอุปสรรคที่เป็น NTBs ได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าอาหารหลายชนิดมีลักษณะที่คล้ายกัน

5.     เศรษฐกิจโลก แม้จะมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่มาก โดยเฉพาะตลาดหลักเดิมอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น

ท้ายที่สุด ผมยังเชื่อว่าอุตสาหกรรมอาหารน่าจะยังเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่อยู่คู่ประเทศไทยไปอีกนาน ตราบเท่าที่รัฐบาลยังให้ความสำคัญ และผู้ประกอบการยังไม่ได้หยุดที่จะพัฒนาตนเอง  โดยเฉพาะ SME ที่ควรมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์ มีคุณค่า มีคุณภาพและความปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ และพยายามเจาะตลาดที่การแข่งขันยังไม่รุนแรงมากนัก เช่น อาหารออร์แกนิก ผักปลอดสาร สัตว์น้ำราคาแพง และ Chilled Ready Meal เป็นต้น อีกทั้งควรปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรมาช่วยทดแทนแรงงานคนที่ต้นทุนสูง และมีแนวโน้มขาดแคลนมากขึ้น  นอกจากนี้ หากมีศักยภาพพอก็ควรพยายามใช้ประโยชน์จากปัจจัยการผลิตที่หาได้ง่ายและมีราคาถูกจากประเทศที่มีทรัพยากรในกลุ่มอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบหรือแรงงาน และสำหรับผู้ส่งออกก็ควรจะมองหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล  และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ขนาดเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก

ที่มา : รชตพงศ สุขสงวน ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ

Disclaimer: ข้อมูลในบทความ เป็นข้อมูลที่วิเคราะห์และรวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย บมจ.ธนาคารกรุงไทย และผู้เขียน จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

อัพเดทเมื่อ 18/04/2561