หน้าหลัก
ผลิตภัณฑ์และบริการ
โปรโมชั่น
ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ
SME Focus Magazine
งานสัมมนา
โครงการอบรม
คำนวณสินเชื่อเบื้องต้น
ค้นหาจุดบริการ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

FOLLOW US Krungthai SME​


สนใจรับวิจัยธุรกิจและความรู้กรุงไทย SME ทางอีเมล์
Krungthai SME

ตลาดกระจกไทย...เริ่มฟื้น

 

          “กระจก” นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆที่สำคัญ ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมรถยนต์ ดังนั้น หากอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้รับผลกระทบ ย่อมส่งผลถึงอุตสาหกรรมกระจกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในปีนี้เศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศเริ่มมีทิศทางดีขึ้น การลงทุนที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตก็กลับมาเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ความต้องการใช้กระจกในประเทศคาดว่าจะดีขึ้น ขณะที่ตลาดส่งออกยังคงเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตไทยยังต้องแข่งขันกับจีน ที่มีต้นทุนต่ำกว่า ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก การแข่งขันครั้งนี้จึงไม่ง่าย 

ตลาดในประเทศ เริ่มมีสัญญาณที่ดี

             การผลิตกระจกแผ่นเรียบในประเทศไทย แบ่งออกเป็น

             - การผลิตกระจกขั้นพื้นฐาน ได้แก่ กระจกชีท (sheet glass) ที่ใช้ทั่วไปตามอาคารบ้านเรือน เช่น ทำเครื่องเรือน กรอบรูป และฝ้ากั้นห้อง เป็นต้น และกระจกโฟลต (float glass) เป็นกระจกโปร่งใสคุณภาพสูง ผิวสองข้างขนานเรียบสนิท มีความหนาตั้งแต่ 2-19 มม. ขนาดความกว้าง 3 เมตร ไม่จำกัดความยาว ใช้ในงานก่อสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัยที่ต้องการโครงสร้างผนังกระจกขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น แบ่งได้เป็น กระจกโฟลตใส และกระจกโฟลตสีตัดแสง ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตของไทยส่วนใหญ่จะผลิตกระจกโฟลตเป็นหลัก เพราะสามารถต่อยอด นำไปพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากกระจกได้ เป็นการเพิ่มมูลค่า และขยายตลาดให้กว้างขึ้น

               - อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากกระจก ได้แก่ กระจกลวดลาย (figured glass) กระจกเงา (mirror) กระจกสะท้อนแสง (heat reflective glass) กระจกฉนวนความร้อน (insulating glass) กระจกเสริมลวด (wire glass) กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (tempered safety glass) กระจกกึ่งนิรภัย (heat strengthened glass) และกระจกนิรภัยหลายชั้น (laminated safety glass) และได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์กระจกให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับ Life style ของคนในยุคปัจจุบัน เช่น กระจกสะท้อนแสง พัฒนาเป็นกระจก low-e เพื่อลดความร้อนและประหยัดพลังงาน ผลิตภัณฑ์กระจกเพื่อการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกระจกใส ชนิดบางพิเศษ เพื่อใช้ในอุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

               การผลิตกระจกแผ่นของไทยมีผู้ผลิตน้อยราย อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา(2555-2559) อยู่ที่ร้อยละ 74.33 ผู้ผลิตรายใหญ่ ได้แก่ บมจ.กระจกไทยอาซาฮี และ บจก.การ์เดียน อินดัสทรีส์ คอร์ป โครงสร้างตลาดในปี 2560 เป็นการจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 77 (ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 59 และนำเข้าร้อยละ 18) และส่งออกร้อยละ 23 โดยในช่วง ม.ค.-ธ.ค. 2560 การผลิตและจำหน่ายกระจกแผ่นเรียบมีปริมาณ 722.9 และ 470.2 พันตัน ตามลำดับ เทียบกับปีก่อนหน้า ปริมาณผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 แต่ปริมาณจำหน่ายลดลงร้อยละ 3.2 เนื่องจากในครึ่งปีแรก ภาคเอกชนยังรอดูสถานการณ์ จึงชะลอการลงทุน ขณะที่มีฝนตกต่อเนื่องยาวนานและมีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้โครงการก่อสร้างภาครัฐที่เป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามกำหนด ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีปัญหาอุปทานส่วนเกิน และธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แต่ในช่วงครึ่งปีหลังสัญญาณเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว การส่งออกที่เพิ่มขึ้น หนุนความเชื่อมั่นผู้บริโภค กระตุ้นกำลังซื้อ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพ-ปริมณฑล ซึ่งนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรคาดว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศในปี 2560 จะเติบโตที่ร้อยละ 5 มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ขณะที่การผลิตรถยนต์ในปี 2560 มีปริมาณ 1.99 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตกระจกแผ่นเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง แต่การจำหน่ายกระจกแผ่นในประเทศยังคงลดลงร้อยละ 3.2
จีน และ CLMV คือ ตลาดส่งออกสำคัญ
กระจกแผ่นยังโตได้ แต่แข่งขันสูง

               เมื่อมองตลาดกระจกแผ่นของไทย ซึ่งมีปริมาณรวมกว่า 7 แสนตัน โดยมีการนำเข้าประมาณร้อยละ 20 ทำให้ บมจ.บางกอกกล๊าส (บีจี) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจแก้วและบรรจุภัณฑ์แก้วมายาวนาน เห็นโอกาสที่จะกระจายความเสี่ยง จึงตั้ง บจก. บีจี โฟลต กล๊าส (BGF) ขึ้นเมื่อปี 2557 เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายกระจกแผ่นนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ กระจกแผ่นสีใส สีเขียว สีชาดำ เป็นต้น และได้จัดตั้งโรงงานผลิตกระจกที่จังหวัดปราจีนบุรี กำลังการผลิต 219,000 ตันต่อปี แล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2560 การแข่งขันนับจากนี้น่าจะคึกคักขึ้น เพราะต่างเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่มากประสบการณ์ และอาจทำให้การนำเข้าโน้มลดลง ซึ่งในปีนี้เศรษฐกิจที่คาดว่าจะโตกว่าปีก่อน การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของภาครัฐที่เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรคาดว่า ปี 2561 ตลาดอสังหาฯจะเติบโตร้อยละ 5-10 โดยอาคารชุดตามแนวโครงการรถไฟฟ้าจะมีการขายและโอนมากที่สุด และธนาคารได้กลับมาปล่อยสินเชื่อคนซื้อบ้านมากขึ้น แต่ธนาคารยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่นเดิม ด้านการผลิตรถยนต์คาดว่าจะอยู่ที่ 2 ล้านคัน ความต้องการใช้กระจกแผ่นจึงเพิ่มขึ้นตาม ประกอบกับตลาดส่งออกกระจกแผ่นยังขยายตัว เพราะกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งเมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว ยังไม่มีโรงงานผลิตกระจกแผ่น อีกทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเหล่านี้ยังเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้น การนำเข้ากระจกแผ่นจึงค่อนข้างสูง โดยไทยมีความได้เปรียบในตลาด สปป.ลาว ส่วนตลาดอื่นๆ ไทยมีส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อย

โดย พัชรินทร์ รัตนพงศ์ภิญโญ หัวหน้าส่วน ทีม Business Risk and Macro Research

Disclaimer : ข้อมูลในบทความ เป็นข้อมูลที่วิเคราะห์และรวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย บมจ.ธนาคารกรุงไทย และผู้เขียน จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

อัพเดทเมื่อ 10/04/2561