หน้าหลัก
ผลิตภัณฑ์และบริการ
โปรโมชั่น
ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ
SME Focus Magazine
งานสัมมนา
โครงการอบรม
คำนวณสินเชื่อเบื้องต้น
ค้นหาจุดบริการ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

FOLLOW US Krungthai SME​


สนใจรับวิจัยธุรกิจและความรู้กรุงไทย SME ทางอีเมล์
Krungthai SME

ค่ารักษาพยาบาล : ต้นทุนชีวิต และโจทย์การคลังภาครัฐ

 

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันมีระดับสูงขึ้นและนับเป็นต้นทุนสำคัญในการดำรงชีพ ซึ่งหากเป็นประชากรที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับบน ก็อาจจะไม่เป็นปัญหามากนัก แต่ถ้าเป็นประชากรหรือแรงงานผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีจำนวนอย่างน้อย 11 ล้านคน หรือเกือบ 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หากเจ็บป่วยคงเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิตพอสมควร และแม้ว่าภาครัฐจะมีระบบสวัสดิการส่วนหนึ่งไว้ดูแล แต่แนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวจะส่งผลกระทบให้งบประมาณและค่าใช้จ่ายของภาครัฐสูงขึ้นตาม อันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจกดดันต่อการบริหารจัดการทางการคลังของภาครัฐ จึงนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง

ระบบสวัสดิการในปัจจุบันของไทย
          ปัจจุบันระบบสวัสดิการที่ดูแลประชาชาน มีด้วยกัน 3 ระบบ ได้แก่ ระบบรักษาพยาบาลข้าราชการ สำหรับข้าราชการและครอบครัว, ระบบประกันสังคม สำหรับแรงงานภาคเอกชน และ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนามของ 30 บาทรักษาทุกโรค สำหรับประชาชนทั่วไป โดยจากการประเมินเบื้องต้น ประชากรราว 5-6 ล้านคนอยู่ในระบบข้าราชการ อีกราว 14 ล้านคนอยู่ในระบบประกันสังคม และที่เหลืออีกราว 49 ล้านคนจะต้องพึ่งพาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
แม้ว่าระบบสวัสดิการจะดูครอบคลุมประชาชนทุกคน แต่ประสิทธิภาพ ความยั่งยืน และความเหลื่อมล้ำ ยังเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับภาครัฐ เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากค่าใช้จ่ายในแต่ละระบบ เทียบต่อหัวของผู้ประกันตน เราจะพบว่า ในปี 2559 ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพกับข้าราชการราว 7.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ที่ 6 หมื่นล้านบาท และเป็นหนี้ค้างกองทุนประกันสังคมอีกราว 6.5 – 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่กองทุนประกันสังคมมีภาระค่าใช้จ่ายต่อปีราว 4 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีงบฯ ใช้จ่ายปีละ 1.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้หากคิดเป็นจำนวนเงินต่อคนแล้ว พบว่าระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการมีค่าใช้จ่ายคนอยู่ที่ 13,391 บาท ขณะที่ระบบประกันสังคมอยู่ที่ 3,399 บาท (นอกจากนี้รัฐบาลยังเป็นหนี้ผู้ประกันตนอีกคนละ 7,000 บาท) และระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประมาณ 3,110 บาทต่อคน

ความจำเป็นของการทำประกันและข้อจำกัด          
ระบบสวัสดิการที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ประชากรไทยสามารถรับมือกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันและอนาคตได้ โดยพบว่าอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในไทยปรับสูงขึ้นกว่าอัตราการเติบโตของ GDP นั่นหมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้ว เติบโตมากกว่ารายได้ของประชากร ขณะที่อัตราการทำประกันชีวิตของไทย ยังอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มประเทศที่มีสวัสดิการภาครัฐดีกว่าไทยด้วยซ้ำไป

นอกจากสวัสดิการภาครัฐที่เหลื่อมล้ำแล้ว ความสามารถในการทำประกันของคนไทยยังคงเหลื่อมล้ำเช่นกัน เนื่องจากหากพิจารณาจากตัวเลขบัญชีเงินฝากเพื่อนำมาวิเคราะห์ความสามารถในการออมของประชากร พบว่าจำนวนบัญชีเงินฝากส่วนบุคคลทั้งหมด 180 ล้านบัญชี มีจำนวนเงินฝากที่มากกว่า 1 ล้านบาท เพียง 1.4% หรือจำนวน 2.6 ล้านปัญชีเท่านั้น แต่มียอดเงินฝากทั้งหมดรวมกันเป็น 76% ของทั้งประเทศ ขณะที่จำนวนบัญชีที่มีเงินฝากต่ำกว่า 5 หมื่นบาท มีอยู่ถึง 86% แต่มียอดเงินฝากรวมกันแค่ 3%จากทั้งหมด ทำให้โอกาสที่จะจัดสรรเงินออมมาทำประกันชีวิตและสุขภาพ จึงมีไม่มาก อย่างไรก็ดี เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชากรสามารถเข้าถึงและทำประกันฯมากขึ้น รวมถึงมีส่วนช่วยลดงบประมาณภาครัฐด้วย โดยล่าสุด ผู้มีเงินได้สามารถนำค่าเบี้ยจากการซื้อประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีได้ ไม่เกินปีละ 15,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าเบี้ยจากการซื้อประกันชีวิตและเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้วไม่เกิน 100,000บาทต่อปี ทั้งนี้ เบี้ยประกันสุขภาพดังกล่าวต้องเป็นค่าเบี้ยที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

บทสรุป ในอนาคตประชากรและแรงงานในประเทศไทย มีความสุ่มเสี่ยงที่จะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีและทั่วถึงได้ จากทั้งปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ที่มาพร้อมความเหลื่อมล้ำและประสิทธิภาพของระบบสวัสดิการ ทำให้ประชากรไทยต้องพึ่งพาการทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองตนเอง แต่จากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการออม ยังเป็นข้อจำกัดในการทำประกันชีวิตโดยรวมของประชากรไทยอยู่เช่นกัน

โดย คุณฤทธิพร ส่งเสริมสวัสดิ์ นักวิเคราะห์อาวุโส ทีม Business Risk and Macro Research
Disclaimer : ข้อมูลในบทความ เป็นข้อมูลที่วิเคราะห์และรวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย บมจ.ธนาคารกรุงไทย และผู้เขียน จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

อัพเดทเมื่อ 06/03/2561