ในปัจจุบันสังคมและเศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่ยุค Digital Economy ที่มีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งการซื้อขายผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เป็นช่องทางดิจิตอลสำคัญอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยในการขยายตลาดและสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการ (Business to Business – B2B) เห็นได้จากการเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจ B2B e-Commerce ที่ในปี 2559 มีมูลค่า 1,542,168 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.5 ขณะที่การซื้อขาย e-Commerce ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค (Business to Consumer – B2C) แม้ขยายตัวถึงร้อยละ 38 แต่มีมูลค่ารวม 703,332 ล้านบาท น้อยกว่าแบบ B2B กว่าครึ่งหนึ่ง โดยในปี 2560 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้คาดการณ์มูลค่า e-Commerce แบบ B2B ว่าจะมีมูลค่า 1,675,182 ล้านบาท และ e-Commerce แบบ B2C จะมีมูลค่า 812,613 ล้านบาท หรือขยายตัวจากปี 2559 ร้อยละ 8.6 และ ร้อยละ 15.5 ตามลำดับ
เริ่มต้นการขายผ่าน B2B E-Commerce
การชื้อขายผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) แบบ B2B จะส่งผลให้ธุรกิจสามารถขยายช่องทางการขายสินค้าและบริการออกสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งยังทำให้บริษัทเข้าถึงง่ายและเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น และหากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์และการให้บริการตรงตามความต้องการของคู่ค้าจะส่งผลให้เกิดการซื้อซ้ำ (Customer Loyalty) และอาจนำไปสู่การเซ็นสัญญาในระยะยาว โดยบริษัทสามารถเริ่มต้นการชื้อขายผ่านระบบ e-Commerce แบบ B2B ด้วยการจัดทำเว็บไซต์ของบริษัทเอง แสดงข้อมูลราคาและรายละเอียดสินค้า/ผลิตภัณฑ์พร้อมขั้นตอนการชำระเงิน อย่างไรก็ตาม การขายออนไลน์จำเป็นต้องมีระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่สูง อาทิ มีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่รับส่งผ่านอินเตอร์เน็ต (SSL Certificate) การยืนยันตัวตนผู้ใช้ เพื่อความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์บริษัท หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือการชื้อขายสินค้า/ผลิตภัณฑ์ออนไลน์ผ่านตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) อย่าง Alibaba ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเข้าถึงผู้ซื้อได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งการขายผ่านตลาดกลาง e-Marketplace ยังสามารถช่วยกรองผู้ซื้อที่น่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง โดยมีค่าสมัครที่แตกต่างกันตามระดับสมาชิก
ยิงให้ตรงเป้า เข้าถึงลูกค้า
เพื่อให้การขายสินค้า/ผลิตภัณฑ์ผ่านระบบ e-Commerce แบบ B2B ประสบผล ปัจจัยสำคัญที่ธุรกิจควรคำนึงถึงเพื่อเข้าถึงความต้องการและสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า มีดังนี้
ความน่าเชื่อถือของบริษัท
ควรนำเสนอข้อมูลต่างๆ ในเว็บไซต์ของบริษัท ได้แก่ ข้อมูลบริษัท ตัวอย่างการเข้าร่วมสัมมนา การได้รับรางวัลหรือการผ่านมาตรฐานการผลิต/การขายตามเกณฑ์ของภาครัฐหรือหลักสากลที่น่าเชื่อถือ ข้อมูลสินค้า อาทิ ประเภทและความแตกต่างของสินค้า รายละเอียดการผลิต/วัตถุดิบที่นำมาผลิต รวมถึงข้อมูลความคิดเห็นหรือการให้คะแนนสินค้าโดยผู้บริหารของบริษัทที่เคยติดต่อและสั่งซื้อสินค้ากับบริษัท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อว่าบริษัทมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ/สินค้า
คุณภาพสินค้าและขั้นตอนการสั่งซื้อ
นำเสนอความแตกต่างและจุดเด่นของสินค้า รวมถึงแสดงรายละเอียดสินค้าในรูปแบบต่างๆ อาทิ ข้อความ ภาพหรือวิดีโอเพื่อให้ผู้ซื้อสามารถเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจน รวมถึงมีฟังก์ชันตัวกรองค้นหาสินค้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถค้นหาสินค้าได้ง่ายและตรงตามความต้องการ อีกทั้งมีขั้นตอนการสั่งซื้อที่ใช้งานง่ายและไม่ซับซ้อน
การบริการ
มีการบริการที่มีมาตรฐานและมีช่องทางในการติดต่อบริษัทได้หลายช่องทาง โดยบริษัทต้องตอบกลับการสอบถาม/ติดต่อของคู่ค้าอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีการส่งข่าวสารอัพเดทข้อมูลสินค้าผ่านทางอีเมลล์หรือชุมชนออนไลน์ อาทิ Line Facebook ไปยังคู่ค้าที่เคยสั่งซื้อสินค้าเป็นระยะ โดยเป็นข้อมูลที่แตกต่างและเฉพาะเจาะจงเหมาะกับแต่ละบริษัท รวมถึงมีการวัดผลความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อสินค้าหรือบริการ เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงกระบวนการเพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น
การให้ส่วนลดและการชำระค่าสินค้า
มีทางเลือกในการชำระค่าสินค้าที่หลากหลายให้แก่ผู้ซื้อ รวมถึงมีส่วนลดเมื่อมีการสั่งสินค้าเป็นจำนวนมากหรือเคยสั่งซื้อสินค้ากับบริษัทมาก่อน
การขนส่ง
มีระยะเวลาและขั้นตอนการส่งสินค้าที่ชัดเจน รวมถึงมีสถานะการขนส่งสินค้าที่เป็นปัจจุบันแสดงในเว็บไซต์
การขายสินค้าผ่านระบบ e-Commerce แบบ B2B ระหว่างผู้ประกอบการนั้น ความน่าเชื่อถือของบริษัทรวมถึงการให้บริการที่มีมาตรฐานและปรับให้เข้ากับความต้องการของคู่ค้ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อสินค้าและการให้บริการเป็นที่พึงพอใจของคู่ค้าจะส่งผลให้เกิดการซื้อซ้ำของการซื้อขายแบบ B2B ที่มีมูลค่าสูง ส่งผลดีทำให้ธุรกิจมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการตอบสนองกลับคู่ค้าอย่างรวดเร็ว การส่งข่าวสารอัพเดทข้อมูลสินค้าที่เฉพาะและเหมาะกับความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละคู่ค้า การมีกระบวนการชำระและส่งสินค้าที่มีมาตรฐานและหลากหลาย รวมถึงการนำข้อเสนอแนะต่อสินค้าหรือบริการของคู่ค้ามาปรับใช้ จะทำให้ธุรกิจเติบโตในยุค Digital Economy ได้เป็นอย่างดี
โดย พัจนภา อินทร์ใจเอื้อ นักวิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ
Disclaimer: ข้อมูลในบทความ เป็นข้อมูลที่วิเคราะห์และรวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย บมจ.ธนาคารกรุงไทย และผู้เขียน จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
อัพเดทเมื่อ 28/02/2561