FOLLOW US Krungthai SME
Subscribe
Unsubscribe
เราจะส่งข้อมูลวิจัยและความรู้ธุรกิจให้กับคุณตามอีเมล์ที่แจ้ง
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ยอดขายรถยนต์เติบโตดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ โดยได้อานิสงค์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ส่งผลบวกกับยอดขายของธุรกิจต่อเนื่องไปด้วยอาทิ ประกันรถยนต์ และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์โดยพบว่า สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ จากภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ยังช่วยหนุนการประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่ออีกด้วย
การแข่งขันสูง รายใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาด ภาพรวมตลาดเช่าซื้อรถยนต์ ถือว่ามีการแข่งขันสูง ขณะที่มีผู้นำในอุตสาหกรรมเพียง 3 – 4 ราย ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 60% โดยสินเชื่อเช่าซื้อที่มีจะเน้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่รถยนต์ใหม่คิดเป็น 70% ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งในบางครั้งพบว่ามีการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด ทำให้ผู้ประกอบการรายกลางหรือรายเล็กจึงแข่งขันได้ลำบากและต้องปรับตัวหรือใช้ความได้เปรียบเชิงพื้นที่ หรือหันไปที่ตลาดรถมือสอง ขณะที่บางรายต้องออกจากธุรกิจไปให้บริการเช่าซื้อสินค้าอื่นแทน
ความต้องการสินเชื่อยังอยู่ในเกณฑ์เร่งตัวขึ้น
คาดว่าแนวโน้มระยะสั้นยังอยู่ในเกณฑ์บวก โดยประเมินจากข้อมูลแนวโน้มของดัชนีภาวะสินเชื่อที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยพบว่าในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2560 ความต้องการสินเชื่อยังอยู่ในเกณฑ์เร่งตัวขึ้น ด้านคุณภาพสินเชื่อแม้อยู่ในเกณฑ์บวกแต่มีแนวโน้มลดลง ทั้งที่มีการเพิ่มมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อและลดสัดส่วนการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งสะท้อนถึงความน่ากังวลต่อ NPL ที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ NPL ratio ล่าสุด ณ 30 มิย 60 อยู่ที่ 1.65% นับว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่คาดว่าในอนาคตมีความเสี่ยงที่สัดส่วน NPL จะปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความกังวลต่อ NPL ทำให้ผู้ให้บริการสินเชื่อมีความเข้มงวดมากขึ้น จึงอาจส่งผลให้ระยะต่อไปการเติบโตของสินเชื่ออาจจะชะลอตัวลงบ้าง
บทสรุป
ธุรกิจเช่าซื้อถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูง และส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่อยู่ในมือของผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย โดยในช่วงก่อนหน้านี้ที่อุตสาหกรรมเป็นขาลงผู้ประกอบการรายกลางและย่อยส่วนใหญ่ได้ปรับตัวหรือถอนตัวออกจากธุรกิจไปบ้างแล้ว ซึ่งในการกลับมาฟื้นตัวรอบนี้จะขึ้นอยู่กับการเติบโตของยอดขายรถยนต์ว่าจะต่อเนื่องได้ขนาดไหน ในส่วนของภาวะความเสี่ยงนั้นในด้าน NPL คาดว่ามีโอกาสปรับขึ้นในอนาคต แต่คาดว่ายังไม่เกินระดับ 2% ซึ่งถือว่าไม่สูงนัก และทางผู้ประกอบการได้เลิกสงครามราคา และปรับระดับอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อมาที่ระดับเฉลี่ย รวมถึงเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องคุณภาพสินเชื่อมากขึ้น แต่ที่น่ากังวลคือ ผลกระทบจากความผันผวนของต้นทุนดอกเบี้ยในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีความผันผวนและปรับสูงขึ้นเร็วกว่าคาด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการมีโครงสร้างเงินทุนประเภทระยะสั้นสูง ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบมากกว่า ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญที่โครงสร้างต้นทุน และการบริหารความเสี่ยงเป็นหลักในระยะต่อไป โดย นายฤทธิพร ส่งเสริมสวัสดิ์ นักวิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจDisclaimer: ข้อมูลในบทความ เป็นข้อมูลที่วิเคราะห์และรวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย บมจ.ธนาคารกรุงไทย และผู้เขียน จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
อัพเดทเมื่อ 12/01/2561