เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2560 ประเทศกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกมีมติขยายเวลาการลดกำลังการผลิตจากมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2559 ต่อไปอีก 9 เดือน สิ้นสุดเดือน มี.ค. 2561 ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดจะยังลดลงรวมกันราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน (1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน + 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ขณะที่ ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว อีกทั้งมีความต้องการใช้มากขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้ในช่วงครึ่งหลังปี 2560 ราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดย EIA คาดการณ์ว่า โดยเฉลี่ยทั้งปี 2560 ราคาน้ำมันดิบ WTI จะอยู่ที่ระดับ 51 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ บาร์เรล สูงกว่าปี 2559 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 43 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ บาร์เรล หรือ คิดเป็นร้อยละ 18 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่อาจกดดันต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ ได้แก่ ปริมาณผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และ ระดับการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกที่เพิ่มขึ้นจากชาติสมาชิกที่ได้รับยกเว้นการควบคุมระดับการผลิตน้ำมันดิบอย่างลิเบียและไนจีเรียปรับตัวเพิ่มขึ้น
ในด้านผลกระทบต่อธุรกิจพลังงาน ด้วยราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าจะส่งผลต่อธุรกิจพลังงานในเชิงบวก ดังนี้
ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ต้นน้ำ) ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึง ยังชะลอการลงทุนออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้ที่เพิ่มต่อเนื่อง ส่งผลให้เริ่มมีการลงทุน การขุดเจาะเพิ่มมากขึ้น (ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 มีการเจาะหลุมสำรวจในไทย 12 หลุม ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเจาะไป 9 หลุม)
ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน (กลางน้ำ) จากราคาน้ำมันดิบที่มีความผันผวนในช่วงนี้ ส่งผลให้เกิดทั้งกำไรและขาดทุนจากสต็อกน้ำมันดิบ แต่ด้วยแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ค่อยๆเพิ่มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงค่าการกลั่นที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นผลดีต่อธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน
สถานีบริการน้ำมัน (ปลายน้ำ) ในช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ ถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมันได้รับอานิสงส์ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงจะช่วยจูงใจให้เกิดการบริโภคน้ำมันที่สูงขึ้น ขณะที่ค่าการตลาดผลิตภัณฑ์น้ำมันในช่วงนี้ทรงตัวในระดับที่ดี อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างช้า ๆ ทำให้กระทบต่อปริมาณการบริโภคน้ำมันภายในประเทศเพียงเล็กน้อย
ธุรกิจปิโตรเคมี (ปลายน้ำ) แม้ว่าธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น แต่โรงงานปิโตรเคมีมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบ โดยการเลือกวัตถุดิบ (แนฟทา/โพรเพน/อีเทน) ที่ทำให้ต้นทุนโดยรวมถูกลง จะสามารถวางแผนรับมือกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
โดยสรุปแล้ว ในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานโดยส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์ สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันอื่นๆ ที่มีต้นทุนหลักอยู่ที่น้ำมัน เช่น ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ จะได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ต้องมีการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อม หรือธุรกิจที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นจำนวนมากในขั้นตอนการผลิต อาทิ ธุรกิจผลิตแก้วและกระจก ธุรกิจผลิตกระเบื้องเซรามิก ธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ ก็อาจต้องเตรียมตัวด้วยการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนในการใช้พลังงาน และในส่วนของผู้บริโภค จากแนวโน้มของราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้นก็อาจจะได้รับผลกระทบในแง่ของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า รวมถึงราคาสินค้าบางประเภทที่อาจปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย
โดย วิธิป จินานุกูลวงศ์ นักวิเคราะห์อาวุโสวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ
Disclaimer : ข้อมูลในบทความ เป็นข้อมูลที่วิเคราะห์และรวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย บมจ.ธนาคารกรุงไทย และผู้เขียน จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
อัพเดทเมื่อ 05/10/2560